พาร์กินสัน: ตอนที่ 18 รถเก่า อย่าขับเร็ว

พาร์กินสัน-18


วันนี้เรามาคุยเกี่ยวกับเป้าหมายการรักษาโรคพาร์กินสันกันครับ ทำไมเราถึงต้องมาคุยเป้าหมายการรักษา ก็เมื่อการรักษาทุกอย่างก็ควรต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ หายดีเป็นปกติ ก็ประเด็นนี้ล่ะครับที่ทำให้เราต้องมาคุยกัน เพราะโรคพาร์กินสันนั้นเกิดจากการที่สมองของผู้ป่วยมีการเสื่อมเกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งเรายังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคนี้ที่แน่ชัด จึงทำให้เราไม่สามารถหาวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้เหมือนโรคอื่นๆ การรักษาจึงต้องคุยถึงเป้าหมายการรักษาที่ตรงกันก่อน

“หมอครับ ผมไม่ได้มาพบหมออยู่ช่วงหนึ่งครับ เพราะตั้งแต่ผมมารักษากับหมอนั้น หมอให้ผมทานยาลีโวโดปา เพียง 1 ใน 4 ส่วน 3 เวลาหลังอาหาร ซึ่งก็ทำให้ผมมีอาการดีขึ้นมากครับ แต่ว่าผมรู้สึกว่ามันไม่หายดี ผมก็เลยทานยาเป็นครึ่งเม็ด 3 เวลาหลังอาหาร อาการดีขึ้นมากเลยครับ ผมกลัวหมอจะว่าที่ผมไม่เชื่อหมอ ผมก็เลยนำตัวอย่างยาไปซื้อจากร้านขายยามาทาน ผมก็ดีใจที่อาการดีขึ้นมาก แต่ที่ผมมาหาหมอวันนี้ ก็เพราะว่าอาการที่เคยดีๆ นั้น ตอนนี้มันเริ่มจะไม่ดีแล้วครับ เริ่มมีปัญหาหยุกหยิก เดี๋ยวยาออกฤทธิ์ เดี๋ยวไม่ออกฤทธิ์ ผมเริ่มกังวลใจว่าท่าทางมันจะไม่ดีเสียแล้ว ก็เลยมาหาหมอวันนี้ หมออย่าว่าอะไรผมเลย ผมกังวลใจมากครับ ขอโทษหมอด้วยนะครับที่ผมดื้อ แต่ก็หวังว่าหมอจะทำให้ผมกลับมาดีเหมือนเดิมได้อีก”

เหตุการณ์แบบนี้ผมพบได้เรื่อยๆ ครับ เพราะผู้ป่วยยังไม่ได้รับการอธิบายแผนการรักษา ธรรมชาติการดำเนินโรคจากหมอผู้ให้การรักษา เนื่องจากการรักษาโรคพาร์กินสันนั้นมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ เป้าหมายแรกนั้นต้องทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น และเป้าหมายที่สองคือต้องไม่ทำให้โรคมีการดำเนินโรคที่แย่ลงอย่างเร็ว ซึ่งสองเป้าหมายนี้มีอะไรบางอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่บ้าง คือ การให้ยารักษาอาการให้ดีขึ้นมากๆ นั้นก็ต้องใช้ยาขนาดสูงโดยเฉพาะยากลุ่มลีโวโดปา การได้รับยากลุ่มนี้เป็นขนาดที่สูง เวลานานๆ ก็จะทำให้โรคทรุดลงเร็ว มีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาและการดำเนินโรคเกิดขึ้นมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่แพทย์ถึงเริ่มให้ยาเพียงขนาดต่ำๆ ผู้ป่วยดีขึ้น 70-80% แต่อาจไม่ 100% เป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายจึงเพิ่มยาทานเอง เพราะต้องการให้อาการดีขึ้นทั้งหมด แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดผลเสียได้แบบผู้ป่วยรายนี้ ผมจึงต้องเริ่มการอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ

“ไม่ต้องกังวลใจครับคุณลุง ปัญหาของลุงนั้นผมพบบ่อยมากครับ เกิดจากขาดการพูดคุยระหว่างหมอกับผู้ป่วยครับว่าแผนการรักษานั้นเป็นอย่างไร การที่ผมให้ยาขนาดต่ำกับลุงนั้น ก็เพื่อลดผลเสียของการรักษาที่พบว่า การให้ยาขนาดสูงเป็นเวลานานๆ การตอบสนองต่อยาจะเปลี่ยนไปจากเดิม การที่ได้ผลในตอนแรกของการรักษา เมื่อผ่านไปหลายปีแบบลุง ก็จะเริ่มมีปัญหา การเพิ่มยาให้มากขึ้นก็แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ แต่กลับเพิ่มปัญหาใหม่อีก บางรายก็เกิดผลสียจากการทานยาตั้งแต่ต้น เพราะยาเหล่านี้มีผลแทรกซ้อนได้ง่าย ที่สำคัญคือว่าโรคนี้รักษาไม่หายขาดครับ การรักษาต้องใจเย็นๆ ให้ยาขนาดสูงไม่มาก เพื่อให้การตอบสนองต่อการรักษาอยู่ได้นานๆ และผลเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุด ช้าที่สุด ผมอยากเปรียบเทียบให้ลุงเห็นว่าเหมือนกับการใช้รถยนต์ของเรา ถ้าตอนนี้รถที่เราใช้มันเก่ามาก และมันกำลังจะเสีย ถ้าเราขับมันช้าๆ ไม่เร่งแรง ใช้ไม่บ่อย ใช้ไม่นาน ใช้แล้วก็พักเป็นระยะๆ มันก็อยู่กับเราไปอีกนาน แต่ถ้าเราเหยียบคันเร่ง เร่งมันให้เร็วที่สุดเหมือนตอนซื้อรถมาใหม่ๆ มันก็พอวิ่งเร็วได้ครับ แต่ว่ามันก็อาจเสียได้เร็วเลย การรักษาโรคนี้ก็เป็นแบบนี้ครับลุง ต้องค่อยๆ ขับ ขับช้าๆ ขับแล้วจอดพักบ่อยๆ มันเก่าครับลุง”

ลุงแสดงสีหน้าที่เข้าใจผมมากขึ้น แล้วพูดว่า “หมอครับ หมอก็พูดให้ลุงเข้าใจดีครับ แต่ว่าลุงจะกลับมาดีเหมือนเดิมหรือเปล่าครับ” ผมก็ต้องค่อยๆ ปรับแผนการรักษา การใช้ยากลุ่มอื่นๆ เข้ามาช่วยให้คุณลุงดีขึ้น ผมมั่นใจครับว่าเราซ่อมได้