พาร์กินสัน:ตอนที่ 14 ตัวแข็งเป็นท่อน

พาร์กินสัน-14


“หมอครับ ผมมีเรื่องรบกวนหมอหน่อยครับ คือว่าพ่อผมไม่สามารถลุกไปไหนมาไหนได้เลยในช่วงกลางวัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือจะไปทำธุระอะไรก็ไปไม่ได้ จะไปถอนเงินที่ธนาคารก็ไม่ได้ ธนาคารไม่ยอมให้มอบฉันทะครับ เพราะลายเซ็นต์ก็ไม่เหมือนเดิม จะไปเองก็ไปไม่ได้ ตัวแข็งเป็นท่อนไม้เลย ผมจะทำอย่างไรดีครับ หมอช่วยพ่อผม และครอบครัวผมด้วย”

เห็นหรือเปล่าครับ นอกจากหมอต้องรักษาอาการของโรคให้ดีแล้ว ยังต้องคอยช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องลายเซ็นต์ การทำธุรกรรม เอกสารทางราชการต่างๆ เพราะผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีปัญหาดังกล่าวได้บ่อย เรามาเรียนรู้กันครับว่าอาการตัวแข็งเป็นท่อนนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะรักษาได้อย่างไรครับ

ปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่พบในการรักษาโรคพาร์กินสันนั้นมีทั้งแบบตัวแข็ง เคลื่อนไหวลำบากและแบบเคลื่อนไหวหยุกหยิกตลอดเวลา การที่ร่างกายไม่เคลื่อนไหว แข็งเป็นเหมือนท่อนไม้นั้นเกิดจากการที่ระดับยาในเลือดนั้นไม่มีระดับที่เพียงพอในการรักษา หรือไม่มีตัวรับ (receptor) ที่เพียงพอในการออกฤทธิ์

การแก้ปัญหาตัวแข็งนั้นต้องทำหลายวิธีประกอบกัน ตั้งแต่วิธีการทานยาว่าทานครบถ้วน ถูกต้องทั้งขนาดและความถี่หรือไม่ ท้องผูกหรือไม่ ขับถ่ายสะดวก ท้องอืด การย่อยอาหารดีหรือไม่ ต้องประเมินว่าอาการตัวแข็งที่เป็นนั้น มีอาการช่วงไหน เช่น กลางคืนอย่างเดียว เราก็ต้องให้ยาที่ออกฤทธิ์นานทานช่วงกลางคืน เพื่อให้ฤทธิ์ยาออกได้นานตลอดทั้งคืน ถ้าตัวแข็งเพราะยาหมดฤทธิ์เร็วกว่าปกติที่ควรจะเป็น (wearing off) เราก็ต้องให้ทานยาถี่ขึ้น หรือให้ยาต้านเอ็นไซม์ ซี โอ เอ็ม ที (COMT inhibitor) เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น แต่ในบางครั้งอาการตัวแข็งนั้นเป็นแบบไม่แน่นอน (random off) แบบนี้ก็ยากในการรักษา อาจต้องปรับขนาดยาที่ได้เป็นขนาดสูงขึ้นก็ได้ ถ้าเป็นอาการตัวแข็งช่วงนอนกลางคืนผู้ป่วยก็จะปวดตัว พลิกตัวไม่ได้ นอนไม่หลับ เหตุเพราะขาดยาช่วงกลางคืน การแก้ไขต้องให้ยากลุ่มลีโวโดปาชนิดออกฤทธิ์นานแบบแคปซูลทานก่อนนอน

ดังนั้นอาการตัวแข็งที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วย ญาติต้องพยายามสังเกตว่าตนเองมีอาการช่วงเวลาไหน มีความสัมพันธ์กับอะไร สัมพันธ์กับช่วงเวลาทานยาหรือไม่ เพื่อที่จะได้บอกแพทย์ได้ชัดเจน และต้องให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างดี ทั้งการทานยา การทานอาหาร พฤติกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะตัวแข็งเป็นท่อนไม้