พาร์กินสัน:ตอนที่ 13 หยุกหยิกทั้งวัน

พาร์กินสัน-13


โรคพาร์กินสันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยจะมีอาการตัวแข็ง มือสั่น เดินลำบาก ล้มง่าย พอได้รับการรักษาไปด้วยการทานยาอาการก็ดีขึ้นไปนานหลายๆ ปี แต่พอผ่านไปประมาณ 5 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาในการรักษาไม่ว่า จะไม่ค่อยตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาขนาดเดิม หรือบางรายก็เกิดปัญหาที่ซับซ้อนไปอีกจากอาการเดิม คือ ช่วงที่ยาไม่ออกฤทธิ์ก็ตัวแข็ง แต่พอทานยาเข้าไป ยาก็ออกฤทธิ์เยอะมากจนผู้ป่วยมีอาการตัวขยุกขยิกตลอดเวลา เหมือนเด็กๆ วัยรุ่นที่เต้นไปมา แต่ผู้ป่วยจะทรมานมาก ไปไหนก็ไม่ได้ เพราะควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้เลย ลองมาดูครับว่าอาการดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร แล้วจะแก้ไขอย่างไรดี

“คุณทองดี (นามสมมุติ) ครับ เชิญเข้าห้องตรวจครับ” เสียงเจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ป่วยเข้าห้องพบหมอ แต่เรียกไปแล้วก็ไม่มีใครเคลื่อนไหวเลย นิ่ง ไม่มีใครเดินมาพบหมอในห้องตรวจ เจ้าหน้าที่ก็เลยเรียกผู้ป่วยรายต่อไปมาตรวจ ผมก็ตรวจไปเรื่อยๆ จนคนไข้หมด ก็จะเดินออกจากห้องตรวจ ก็มีเจ้าหน้าที่บอกว่ายังเหลือผู้ป่วยอีกคนที่ยังไม่ได้ตรวจ คือ คุณทองดี ที่เรียกชื่อให้เข้ามาตรวจแต่ไม่ได้เข้ามา ผมก็เลยสอบถามว่าไปไหนมา หมอเรียกไม่ได้ยินหรือเปล่า

“หมอครับ ผมได้ยินที่เรียกผมเข้าตรวจแต่ตอนนั้นผมลุกไปไหนไม่ได้เลย ตัวมันไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้ มันได้แต่ขยับหยุกหยิกตลอดเวลา แต่ลุกไม่ได้ มันเหมือนคนดิ้นไปมา เหมือนปลาถูกทุบหัวแล้วเจ็บดิ้นไปมา ทรมานมากครับ พอผ่านไปเกือบชั่วโมงก็ค่อยๆ ดีขึ้นครับ หลังจากที่ผมได้ทานยาไปประมาณ 1 ชั่วโมง”

ปัญหาที่ผู้ป่วยรายนี้เกิดขึ้น อาการหยุกหยิกนี้เรียกว่า dyskinesia คือผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวไปมาของแขน ขา ลำตัว บิดไปมา แต่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ เดินก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น การเกิดอาการดังกล่าวนั้น เกิดได้ทั้งในช่วงที่ยาออกฤทธิ์ใหม่ๆ คือหลังทานยาไปได้ครึ่งชั่วโมง เรียกว่า อาการหยุกหยิกขณะยามีระดับสูง (peak dose dyskinesia) หรือเกิดในช่วงที่ยาหมดฤทธิ์ก็ได้ คือหลังจากทานยาไปนานหลายชั่วโมง เรียกว่า อาการหยุกหยิกขณะยาไม่มีระดับหรือหมดฤทธิ์ยา (off dose dyskinesia) บางรายเกิดได้ทั้งช่วงยาออกฤทธิ์มากและยาหมดฤทธิ์ เรียกว่า อาการหยุกหยิกทั้งสองช่วง (bi-phasic dyskinesia) หรือแบบไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นช่วงไหน เรียกว่าแบบสุ่ม (random dyskinesia)

อาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในการรักษาโรคพาร์กินสันเมื่อผ่านมาได้ประมาณ 5-7 ปี กลไกการเกิดนั้นมีหลายข้อสันนิษฐาน ได้แก่ การดูดซึมยาที่ไม่สม่ำเสมอ การออกฤทธิ์ยาที่เปลี่ยนไป จากการตอบสนองปกติเป็นการตอบสนองไวกว่าปกติ หรือไม่ตอบสนองเลย การลดลงของตัวรับสารสื่อประสาท (receptor) เป็นต้น การรักษา คือ ต้องระบุให้ได้ว่าอาการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบไหน เช่น เกิดในขณะยามีระดับสูง ก็ต้องลดขนาดยาลง แต่ให้ถี่บ่อยขึ้น ถ้าเป็นช่วงยาหมดฤทธิ์ก็ต้องให้ยาถี่ขึ้นหรือให้ยาต้านเอ็นไซม์ซี โอ เอ็ม ที (COMT inhibitor) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอาการของโรคพาร์กินสันนั้นมีได้หลายรูปแบบ หลายช่วงเวลา และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมาก แต่ก็สามารถแก้ไข ป้องกันได้ ถ้าแพทย์และผู้ป่วยทราบถึงอาการ วิธีการรักษาดังกล่าวอย่างดี