พาร์กินสัน: ตอนที่ 11 ทานยาเมื่อไหร่ดี

พาร์กินสัน-11


“หมอครับ ผมค่อนข้างงงและสับสนกับการทานยาที่หมอจัดให้ครั้งก่อนครับ เพราะก่อนหน้านี้ผมทานยาทุกชนิดหลังอาหารมาเกือบ 2 ปี แต่ครั้งก่อนผมมาพบหมอ หมอก็ไม่ได้บอกว่าจะปรับเปลี่ยนยาอะไร แต่พอกลับไปถึงบ้าน หยิบซองยามาดู ก็พบว่ายาที่ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาจากหลังอาหารเป็นก่อนอาหาร ผมเลยงงครับว่า ทานยาตอนไหนดี”

คำถามนี้ผมเจอบ่อยๆ ครับ มีทั้งหมอเจตนาปรับเปลี่ยนวิธีการทานยา หรือเปลี่ยนชนิดยา เปลี่ยนยี่ห้อยา แต่ไม่ได้บอกผู้ป่วย หรือไม่ได้เจตนาเปลี่ยน แต่เขียนคำสั่งแล้วเภสัชกรอ่านไม่ออก เพราะลายมือหมอมักอ่านยาก และบางครั้งก็เกิดจากการสั่งใช้ยานอกเหนือวิธีปกติ ทำให้เกิดความสับสนในการใช้ยาได้ อย่างในกรณียาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะกลุ่มยาลีโวโดปานั้น ถ้าให้ดีจริงๆ ตามกลไกการออกฤทธิ์ของยาแล้วนั้น ต้องทานก่อนอาหารถึงจะดี เพื่อลดโอกาสการตีกันของยากับอาหาร แต่โดยทั่วไปแล้วการทานยาก่อนอาหารมักลืมได้ง่าย และมีผลแทรกซ้อนกับระบบทางเดินอาหารได้บ้าง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร จึงได้สั่งให้ทานหลังอาหารเป็นส่วนใหญ่ในการเริ่มการรักษา แล้วกรณีของผู้ป่วยรายนี้เกิดจากอะไร จึงมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทานยา จากหลังอาหารเป็นก่อนอาหาร

ผมได้ทบทวนประวัติเมื่อครั้งก่อนที่ผู้ป่วยมาพบผม ก็พบว่าผู้ป่วยได้เล่าว่าอาการในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสังเกตว่าหลังจากทานยาไปแล้ว ยาออกฤทธิ์ได้ช้าลง ปกติทานยาไปครึ่งชั่วโมงยาก็ออกฤทธิ์ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวขึ้น อาการเกร็ง สั่นลดลง เดินได้ดี แต่ช่วงหลังพบว่าต้องทานยาไปนานเกือบชั่วโมง อาการจึงเริ่มดีขึ้น ผมจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาจากหลังอาหารเป็นก่อนอาหาร แต่ลืมบอกผู้ป่วย ก็เลยเกิดการสับสนขึ้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการรักษาโรคพาร์กินสันนั้น การทานยาเป็นรายละเอียดที่สำคัญ และส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วย แพทย์และผู้ป่วยจะต้องมีการพูดคุยกันในระหว่างการตรวจให้ดีและละเอียดมากพอ เพื่อให้การรักษานั้นได้ผลดี ผมเองก็จะต้องฝึกฝนทักษะนี้และใส่ใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น มิฉะนั้นเจตนาดีของเราอาจก่อให้เกิดความสับสนกับผู้ป่วยได้