พาราเซตามอล ยาเดียวในดวงใจ (ตอนที่ 1)

พาราเซตามอลยาเดียวในดวงใจ

“ยาพาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้าน ที่ใครๆ จะต้องนึกถึงเป็นลำดับแรก เพราะยาชนิดดังกล่าวเป็นยาที่สามารถใช้ได้ง่าย มีผลข้างเคียงน้อย สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และช่วยลดอาการเจ็บปวดเบื้องต้น

ถึงแม้ว่าการกินยาพาราเซตามอลนี้ จะช่วยสามารถคลายความเจ็บปวดไปได้ แต่หากกินในปริมาณที่มากหรือกินติดต่อกันจนมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของตับที่ผิดปกติ และอาจจะนำไปสู่โรคตับเป็นพิษ หรือนำไปสู่ภาวะโรคตับวาย และถ้าหนักสุดก็อาจจะเสียชีวิตได้

ขณะเดียวกัน การกินยาพาราเซตามอลนี้ เมื่อกลับสู่อาการปกติแล้ว สามารถหยุดกินยาได้ทันที หรือถ้าบางรายที่กินไปแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดท้องบวม หรือ มีผื่นคัน ควรหยุดกินยาแล้วพบแพทย์โดยด่วนที่สุด

โดยสัดส่วนรูปร่างและน้ำหนักของแต่ละคนมักจะไม่เท่ากัน ดังนั้นหากจะต้องกินยาพาราเซตามอลนั้น จะต้องดูองค์ประกอบดังกล่าว รวมถึงอายุของผู้กินด้วย ซึ่งปริมาณของยาพาราเซตามอลแต่ละครั้ง คือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยคำนวณง่ายๆ ตามนี้

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 34-50 กิโลกรัม ให้กินเพียง 1 เม็ด ไม่เกิน 5-6 ครั้งต่อวัน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 50-75 กิโลกรัม ให้กินเพียง 1 เม็ดครึ่ง ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 75 กิโลกรัมขึ้นไป ให้กินเพียง 2 เม็ด ไม่เกิน 3-4 ครั้งต่อวัน

ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม สามารถกินได้ 1 หรือ 1 เม็ดครึ่ง และ ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม สามารถกินได้ 1 เม็ดครึ่ง หรือ 2 เม็ด ซึ่งการกินยาในแต่ละครั้ง จะต้องกินห่างกันอย่างน้อยครั้งละ 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ คำแนะนำดังกล่าว ใช้ได้กับตัวยาพาราเซตามอลสูตรทั่วไป (500 มิลลิกรัม) เท่านั้น แต่ถ้าเป็นตัวยาพาราเซตามอลสูตรพิเศษ หรือ ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนกินยาทุกครั้ง

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาที่ใช้กันทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ มักใช้ในการบรรเทาอาการปวดระดับอ่อนหรือระดับกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน หรืออาการเคล็ด (Sprains) และใช้ลดไข้ เช่น ไข้หวัด

เราสามารถหาซื้อยาพาราเซตามอลได้ทั่วไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายยา แต่บางชนิดก็ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ โดยยาพาราเซตามอลมีอยู่ในหลายรูปแบบ ได้แก่

  • ชนิดเม็ด (Tablet) หรือ ยาเม็ดที่มีลักษณะรีคล้ายแคปซูล (Caplet)
  • ชนิดแคปซูล (Capsule)
  • ชนิดน้ำ (มักใช้กับเด็ก)
  • ชนิดเม็ดละลายน้ำ (Soluble tablet)
  • ชนิดเหน็บ (Suppository)

บรรณานุกรม

1. ยาพาราฯ กินกี่เม็ด ถึงจะดี ไม่ทำลายตับ. http://www.manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9600000013104 [2017, February 26].

2. Paracetamol. http://www.nhs.uk/conditions/Painkillers-paracetamol/Pages/Introduction.aspx [2017, February 26].

3. Paracetamol. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-57595/paracetamol-oral/details [2017, February 26].