พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. จะส่งเสริมสนับสนุนศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีทั้งสิ้น 20,043 แห่งทั่วประเทศ ให้ได้มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ มีอุปกรณ์การเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความรู้ ส่งเสริมพัฒนาการสติปัญญา หรือไอคิว (Intelligence quotient: IQ) และมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวดี (Emotional quotient: EQ) เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

Dr. Laura Markham ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเป็นพ่อแม่ (Parenting) แนะนำว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้มี EQ สูง สามารถทำได้ง่ายๆ แต่พ่อแม่ต้องใส่ใจในการดูแลเด็ก ดังนี้

อุ้มเด็กปฐมวัย (เด็กทารกและเด็กเล็ก) เมื่อเด็กต้องการและตอบสนองต่อการร้องไห้ของเด็กอย่างรวดเร็ว เด็กที่มี EQ สูงเริ่มตั้งแต่วัยทารกที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแล จะพัฒนาความรู้สึกปลอดภัยและความไว้วางใจ

ลดความตื่นเต้นของตัวเอง ความรู้เก่าแก่ บอกไว้ว่าลูกรับความตื่นเต้นจากพ่อแม่ และมีผลการวิจัยในยุคปัจจุบันออกมายืนยันว่า เด็กเกิดความตื่นเต้นหรือมีความสงบนั้น มาจากการสัมผัส น้ำเสียงและการเคลื่อนไหวของพ่อแม่

ช่วยเด็กให้ปลอบใจตัวเอง เด็กทารกเรียนรู้ที่จะปลอบใจตนเองจากการที่ได้รับการปลอบใจก่อน ทำให้รู้ว่าเรื่องของจิตใจและอารมณ์นั้นจัดการได้และต้องอดทน ระบบประสาทของเด็กจะปูพื้นฐานการปลอบใจตนเองเมื่อเติบโต

การยอมรับและให้ความสำคัญกับอารมณ์ของเด็กปฐมวัย โดยให้เด็กเข้าใจว่า เขาไม่สามารถเลือกอารมณ์ได้ แต่สามารถจัดการได้ โดยมีข้อตกลงหรือข้อจำกัดในการแสดงออก

เมื่อไม่แน่ใจให้แสดงความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้เด็กยอมรับอารมณ์ไม่ดีของตัวเอง เด็กเรียนรู้ว่าอารมณ์ของเด็กไม่มีอันตราย ไม่น่าอับอาย และเป็นเรื่องที่ทุกคนก็เป็น แต่สามารถจัดการได้

ต้องไม่พยายามเบี่ยงเบนอารมณ์เด็ก อย่าทำให้เด็กรู้สึกอับอายขายหน้า หรือเห็นเป็นเรื่องเล็กเวลาเขาหกล้ม ให้เขาเป็นฝ่ายพูดอธิบาย และมีเวลาเรียนรู้ แล้วเขาจะลุกขึ้นมาดำเนินชีวิตต่อไปได้

การเก็บกดใช้ไม่ได้ผล การไม่เห็นด้วยกับความโกรธหรือความกลัวของเด็ก ไม่ทำให้เด็กหยุดอารมณ์เช่นนั้นได้ แต่อาจทำให้เด็กเก็บกด ซึ่งอารมณ์ไม่หายไปไหน การกลั้นความรู้สึกอาจเป็นกับดัก และส่งผลให้แสดงออกอย่างรุนแรง

การรับฟังอย่างกระตือรือร้น แสดงความเข้าใจในสิ่งที่รับฟัง จะช่วยให้เด็กลดความตึงเครียดได้ แต่การรับฟังดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วยหรืออนุญาตให้ทำ

ช่วยเด็กเรียนรู้การแก้ปัญหา คนเราส่วนมากก็จะรับรู้อารมณ์ตัวเอง เข้าใจและยอมรับได้ อารมณ์นั้นก็ลดความรุนแรงจะจางหายไป บางครั้งเด็กต้องการผู้ช่วยคิด แต่ไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาให้ เพราะแสดงถึงความไม่มั่นใจในตัวเด็ก

การจัดการกับความโกรธอย่างสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กโกรธหรือกลัว ให้ค้นหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ลูกเรียนรู้แบบแผนจากพ่อแม่ ดังนั้นจงใช้การพูดจาแก้ปัญหา อย่าปล่อยให้ความโกรธใหญ่โตขึ้น

เป็นแบบอย่างของความฉลาดทางอารมณ์ ลูกดูตัวอย่างจากพ่อแม่ แล้วทำตาม ดังนั้นต้องระวังเวลาพ่อแม่จิกกัดคนอื่นหรือโมโหโทโสเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สบอารมณ์ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่า สามารถสงบเรื่องเร้าอารมณ์ได้

ระงับอารมณ์ตนเองก่อนควบคุมไม่ได้ พ่อแม่ต้องไม่ยอมให้ตัวเองแสดงออกอย่างเกินเหตุ เช่นการตะโกนดุด่าว่าลูก เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไร ยังทำให้เด็กเรียนรู้การปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์ที่รุนแรงของพ่อแม่

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 26].
  2. Emotional Quotient. http://www.ahaparenting.com/parenting-tools/raise-great-kids/emotionally-intelligent-child/emotional-intelligence [2012, March 26].