พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 5)

กระทรวงสาธารณสุข ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มุ่งสู่การปั้นเด็กไทยให้มีคุณภาพ โดยคุณสมบัติข้อแรกคือ ไอคิวดีไม่น้อยหน้าเด็กสากล Robert G. Voigt กุมารแพทย์แห่ง Mayo Clinic ในเมือง Rochester รัฐมินนิโซตา กล่าวว่า มีกิจกรรมมากมายที่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองของทารกและเด็กเล็ก (ปฐมวัย) ซึ่งจะมีผลพัฒนา สติปัญญา (Intelligence quotient: IQ) โดยทั้งเด็กและพ่อแม่มีความสุขร่วมกันง่ายๆ ได้แก่

คุยกับลูก ยิ่งพ่อแม่คุยกับลูกมากเท่าไร ลูกก็จะได้เรียนรู้คำศัพท์มากเท่านั้น ให้คุยเรื่องธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งของที่จับต้องได้ คุยเรื่องรถบรรทุก คุยเรื่องผ้าห่ม มากกว่าเรื่องวันหยุดพักผ่อน (Vacation) ที่กำลังจะมาถึง เพราะเด็กวัยนี้คิดถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม และหากลูกแสดงความสนใจพยายามสื่อสารด้วย ก็ให้คุยเรื่องนั้นให้ละเอียด

อ่านหนังสือด้วยกัน เพื่อความผูกพัน และผลทางสติปัญญา เด็กจะเริ่มมีพื้นฐานการอ่าน รู้ว่ามีตัวหนังสือมีการสะกดเป็นคำๆ บนแผ่นกระดาษ และการอ่านจะเริ่มจากซ้ายไปขวา รูปในหนังสือก็ทำให้เด็กเรียนรู้ และเมื่ออ่านจบก็ให้พ่อแม่อดทนอ่านอีกรอบ เพราะทุกรอบที่อ่านก็จะพัฒนาความจำของลูก ซึ่งจะสามารถจดจำเนื้อหาในหน้าต่อไปได้

ใช้ภาษาท่าทางสื่อสารกับลูก พ่อแม่สามารถคุยกับลูกได้ตั้งแต่เด็กยังพูดไม่ได้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงว่าการสื่อสารด้วยมือหรือท่าทาง (Sign language) มีผลดีต่อสติปัญญา (IQ) และการพัฒนาทางภาษาของเด็ก การศึกษาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า เด็กที่เรียนรู้ภาษาท่าทางเพียง 20 อย่างก็มี IQ สูงกว่าเด็กที่ไม่มีการเรียนรู้แล้ว

เลี้ยงด้วยนมมารดา เด็กทารกขวบปีแรกที่ได้มารดาให้นม (Breastfeed) มี IQ สูงกว่า แต่หากใช้นมผง ก็แนะนำให้ใช้ นมเพิ่มธาตุเหล็กสูตร 1 (Iron-fortified one) สำหรับ 1 ปีแรก การศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า เด็กทารกที่ขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรง จะได้คะแนนความจำและการเคลื่อนไหวน้อยกว่าเด็กอื่นๆ ในการทดสอบเมื่อถึงวัยรุ่น

ให้เวลาส่วนตัว ถ้าพ่อแม่เล่นกับลูกตลอดเวลาที่เด็กทารกตื่น ก็จะทำให้ลูกไม่ได้พัฒนาพลังสมองด้วยตนเอง และขาดช่วงสมาธิ (Attention span) ซึ่งมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการเรียนการศึกษาเมื่อเขาโตขึ้น ธรรมชาติของเด็กต้องการความบันเทิงตลอดเวลา แต่ต้องปล่อยให้เด็กเล่นของเล่นหรือคลานไปมาเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง

ให้ความอบอุ่น ทั้งทางกายและใจ ด้วยการสบสายตากับลูกบ่อยๆ เมื่อเด็กรู้ว่าพึ่งพาคุณได้และได้รับความรักจากคุณเสมอ เขาก็จะค้นหาสิ่งนั้นในตัวเอง เหตุจูงใจให้เด็กอยากพูดคือการจะได้สื่อสารกับคนอื่นๆ และอยากผูกพันกับคนในครอบครัว การเล่นและให้ความอบอุ่น จะเป็นประโยชน์เกินกว่าแค่พัฒนาการทางสมอง

การพัฒนาทางจิตใจของเด็กมีหลายแง่มุม ได้แก่ ความสามารถในการเรียนหนังสือ การเข้าใจในกฎระเบียบ การเข้าสังคม ความจำ ความสนใจสิ่งแวดล้อม และจิตวิทยาเปรียบเทียบ

ความเครียด (Stress) ในบางระดับก็มีผลดีต่อเด็กปฐมวัย ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นและความสามารถที่จะสู้เมื่อถูกคุกคามหรือท้าทาย ความเครียดที่ดีหรือทางบวกนี้ส่งผลให้ฮอร์โมนของเด็กปฐมวัยเปลี่ยนแปลง และเพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ (Heart rate) ความเครียดในระดับที่เหมาะสม ทำให้เด็กเรียนรู้การควบคุมสถานการณ์

ยังมีความฉลาดอีกประเภทนอกเหนือจากสติปัญญา (IQ) คือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional quotient: EQ) ซึ่งมีความสำคัญมากในการเลี้ยงดูเด็กสักคน การจัดการกับความตื่นเต้นที่จะเสนอโครงการใหญ่ๆ การควบคุมความโกรธในชีวิตคู่ การจัดการกับความกลัวขณะสัมภาษณ์งาน เป็นความสามารถของมนุษย์ที่หากทำได้ดีจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่หยั่งรากลงพื้นฐานมากกว่า สติปัญญา (IQ) เสียอีก

พรุ่งนี้เราจะมาดูว่าพ่อแม่ผู้ปกครองทำอะไรเพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงของความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กได้อย่างไรบ้าง

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 25].
  2. Early Childhood Development. http://en.wikipedia.org/wiki/Early_childhood_development [2012, March 25].
  3. Boost Your Baby’s IQ. http://www.parents.com/baby/development/intellectual/boost-your-babys-iq/ [2012, March 25].