พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 4)

นายแพทย์ไพจิตร วราทิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า นอกจากสุขภาพกายที่ดีแล้ว เรายังมีเป้าหมายไอคิวดี คือไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานสากล (100 จุด) และมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวดี เพื่อให้เด็กปฐมวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ความสามารถทางสติปัญญา (Intelligence quotient: IQ) เป็นคะแนนที่มีแบบการทดสอบด้วยมาตรฐานที่ยอมรับกันในสากล เกิดจากการคิดค่าเฉลี่ยที่ 100 ของเด็กในวัยเดียวกัน และมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 15 การทดสอบ IQ มีหลายแบบเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะในแต่ละหัวข้อ ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีแบบทดสอบ IQ จากหลายสถาบันและสถานศึกษาหลายแห่งก็สร้างมาตรฐานเพื่อวัดสติปัญญาเฉพาะด้านเช่นกัน

การทดสอบ IQ ที่มีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของ Cattell-Horn-Carroll มีการแบ่งเป็น 10 หัวข้อใหญ่และ 70 หัวข้อย่อย เกี่ยวข้องกับการวัดความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การแก้ไขปัญหาจากรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย ความสามารถในการสื่อสารสิ่งที่รู้ และการให้เหตุผลเทียบเคียงจากสิ่งที่รู้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีการวัดความสามารถในการคำนวณและการใช้สัญลักษณ์ตัวเลข ความสามารถในการอ่านเขียน ความทรงจำระยะสั้น การเรียกใช้ข้อมูลจากความทรงจำระยะยาว การใช้จินตนาการ เพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์ วิจัย และคิด การใช้ทักษะการฟัง การเรียกใช้ความทรงจำอัตโนมัติ และความรวดเร็วในการตัดสินใจและการตอบสนอง

การศึกษาวิจัยต่อเนื่องใช้ตัวอย่างเด็กจำนวนเกือบ 4,000 คน พบว่า IQ ของเด็กที่บริโภคอาหารสำเร็จรูปปริมาณมากจะลดลง 1.67 จุดในวัย 8 ขวบ ในทางตรงข้าม เด็กที่บริโภคอาหารสุขภาพ เช่น สลัด ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว (Pasta) ปลา ผลไม้และผัก ก็จะมีผล IQ สูงขึ้น 1.2 จุด

นักวิจัยคาดว่าคุณภาพของอาหารที่เด็กวัย 3 ขวบบริโภค มีผลต่อสติปัญญาเนื่องจากสมองเจริญเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 3 ปีแรก การศึกษาวิจัยยังพบว่าขนาดที่ใหญ่ขึ้นของศีรษะในช่วงนี้มีความสัมพันธ์กับความจำ และอาหารก็มีผลต่อความเจริญเติบโตของสมอง

มีข้อสังเกตว่าในปฐมวัย 0–8 ขวบนี้ เด็กมีรูปแบบการบริโภคอยู่ 3 แบบ ได้แก่ (1) อาหารแปรรูป (Processed) ประกอบด้วยไขมันและน้ำตาล ที่สะดวกในการบริโภค (2) อาหารแต่ดั้งเดิม (Traditional) ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก มันฝรั่ง และผัก และ (3) อาหารสุขภาพ (Health-conscious) ประกอบด้วย สลัด ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ปลา ผักและผลไม้

ระยะเวลาในการให้นมมารดา การศึกษา และระดับสังคมของมารดา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพการเลี้ยงดูก็มีผลต่อ IQ โดยรวม และต่อพัฒนาการทางจิตวิทยา (Psychology) ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาอย่างเป็นระบบถึงการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ทางอารมณ์ และการมองโลก รวมไปถึงการเคลื่อนไหว การพัฒนาระบบความจำ การแก้ไขปัญหา ความมีคุณธรรม และการใช้ชีวิตของมนุษย์

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการให้อาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่ ผลักดันให้มีกฎหมายด้านอาหารทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด สนับสนุนให้ที่ทำงานมี ”มุมนมแม่” เพื่อให้แม่เก็บน้ำนมให้ลูกกินที่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังดูแลมาตรฐานการผลิตเกลือเสริมไอโอดีน เพื่อให้เด็กไม่ขาดสารไอโอดีนซึ่งเป็นสารสำคัญต่อการเพิ่มระดับสติปัญญา

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 24].
  2. Kids' IQ Takes a Hit With Poor Eating Habits. http://www.medpagetoday.com/Pediatrics/GeneralPediatrics/24748 [2012, March 24].
  3. Intelligence Quotient. http://en.wikipedia.org/wiki/Iq_test [2012, March 24].
  4. Boost Your Baby’s IQ. http://www.parents.com/baby/development/intellectual/boost-your-babys-iq/ [2012, March 24].