พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 2)

นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. ได้ดำเนินการสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มดูแลตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ในทางการแพทย์ การให้กำเนิดทารกในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 37 และ 42 หลังการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last normal menstrual period: LNMP) ถือว่าทารกอยู่ในครรภ์ครบกำหนด โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) อยู่ที่ 8–9 วัน

หากคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 เป็นการคลอดก่อนกำหนด (Pre-mature) และหากคลอดหลังสัปดาห์ที่ 42 ถือเป็นการคลอดเกินกำหนด (Post-mature) ในกรณีหลังมักมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในกรณีแรก ทารกจะมีความเสี่ยงจากการที่อวัยวะหลายส่วนยังไม่เจริญเต็มที่ เช่น ปอด สมอง และตับ นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อเพราะการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคก็ยังไม่เ ต็มที่

กำหนดคลอดที่แม่นยำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะได้รับการนำไปใช้ในการคำนวณผลทดสอบก่อนคลอด (Pre-natal test) หลายอย่าง ในกรณีที่คำนวณพบว่าเกินกำหนดแล้ว แพทย์อาจตัดสินใจทำคลอด ส่วนการผ่าคลอดทางหน้าท้อง (Caesarean section) อาจมีผลแทรกซ้อน (Complications) มากกว่าการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

แต่หาก LNMP และการทำอุลตราซาวนด์ (Ultrasound) ให้ผลกำหนดคลอดที่ต่างกัน แพทย์ก็จะเลือกผลของการทำอุลตราซาวนด์ เพราะใกล้เคียงภาวะปัจจุบันของทารกมากที่สุด แต่เด็กทารกในครรภ์อาจพัฒนาช้าและต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด หอดูแลทารกแรกเกิด (Neonatal intensive care unit) ตามโรงพยาบาลจะดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ปัจจุบันอายุของทารกในครรภ์ (หลังจากเป็นตัวอ่อนแล้ว) ลดลงเรื่อยๆ ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ในบางประเทศลดลง จนถึง 23 สัปดาห์ หรือ 22 สัปดาห์จากที่เคยเป็น 28 สัปดาห์ในอดีต “ช่วงหลังแรกเกิด” (Postnatal Period) เริ่มต้นทันทีหลังคลอด จนถึง 6 สัปดาห์ เป็นช่วงการฟื้นฟูของมารดากลับเข้าสู่สภาพปรกติก่อนตั้งครรภ์

มีผลการศึกษาว่าการสัมผัสกันของแม่ลูกทันทีที่ลูกเกิดนั้นส่ง ผลดีให้กับทั้งแม่และลูก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่าการสัมผัสนี้ช่วยลดการร้องไห้ของเด็ก ช่วยให้แม่ลูกผูกพัน และช่วยให้แม่ป้อนนมลูกได้ง่ายขึ้น การสัมผัสดังกล่าวควรมีขึ้นใน “ช่วงหลังแรกเกิด” ซึ่งเป็นช่วงที่มารดามีการปรับฮอร์โมนในร่างกาย รวมทั้งการหดตัวของขนาดมดลูก

ในด้านโภชนาการ มีคำแนะนำให้ผู้คาดว่าจะตั้งครรภ์กิน Vitamin B9 เพื่อป้องกันความผิดปรกติของระบบประสาทของทารกที่มักพัฒนาในช่วง 28 วันหลังการปฏิสนธิ รวมถึงการผิดรูปของกระดูกสันหลังของทารก (Spina bifida) ที่เป็นสาเหตุใหญ่ของการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ

ในช่วงตั้งครรภ์ มารดาควรรับประทานอาหารให้ครบทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน (เช่นไข่) รวมถึงผักใบเขียว และผลไม้รสเปรี้ยวที่หลากหลาย จึงแนะนำว่าหากมารดาจำกัดอาหารจากเรื่องสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา หรือจารีตประเพณีใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงกับสถา นการณ์ของตน

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึง DHA omega-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่เป็นโครงสร้างของสมองและจอประสาทตา ทารกไม่สามารถผลิต DHA ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเอง จำเป็นจะต้องได้รับผ่านสายรกเมื่ออยู่ในครรภ์และจากน้ำนมเมื่อคลอดแล้ว ดังนั้นมารดาจึงควรรับประทานอาหารซึ่งมีสาร DHA (เช่นน้ำมันตับปลาทะเล) ให้มากพอระหว่าง ตั้งครรภ์

ยังมีโภชนาหารที่สำคัญและจำเป็นหลายชนิดที่ช่วยพัฒนาเด็กทารกในครรภ์ เช่น Vitamin D และ Calcium ที่อาจต้องให้เป็นอาหารเสริม มีผลการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ. 2554 พบว่าเด็กที่ได้รับ Vitamin D ในปริมาณต่ำมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอดสูง ในขวบปีแรก

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 22].
  2. Early Childhood. http://en.wikipedia.org/wiki/Early_childhood [2012, March 22].
  3. Pregnancy. http://en.wikipedia.org/wiki/Pregnancy [2012, March 22].