พัฒนาการในเด็ก (ตอนที่ 2)

พัฒนาการในเด็ก

ลำดับการพัฒนาสำคัญๆ ในแต่ละช่วงเวลา (Developmental milestones) เช่น การก้าวเดิน การยิ้ม การโบกมือ การเริ่มพูด เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเด็ก หากเด็กไม่ได้มีพัฒนาการตามที่ควรจะเป็น นั่นหมายความว่า เด็กอาจมีปัญหา ผู้ปกครองควรทำการปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะหากช้าไป จะทำให้เด็กเกิดปัญหาเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน

การคัดกรองพัฒนาการ (Developmental screening) เป็นการทดสอบสั้นๆ ที่บอกได้ว่า เด็กมีทักษะพื้นฐานเป็นอย่างไร มีพัฒนาการที่ล่าช้าไปหรือไม่ แพทย์อาจจะถามคำถาม พูด หรือเล่นกับเด็กระหว่างการทดสอบ เพื่อดูว่าเด็กเล่น เรียนรู้ พูด มีพฤติกรรม และเคลื่อนไหว อย่างไร หากไม่เป็นไปตามช่วงเวลาที่ควรจะเป็น อาจเป็นสัญญานบ่งบอกว่าเด็กมีปัญหา

ในสหรัฐอเมริกา ประมาณร้อยละ 13 ของเด็กอายุ 3-17 ปี จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ เช่น เป็นโรคออทิสซึ่ม (Autism) โรคบกพร่องทางสติปัญญาหรือมีภาวะปัญญาอ่อน (Intellectual disability / mental retardation) และโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit/hyperactivity disorder) และหลายคนมีปัญหาเรื่องภาษาทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนในโรงเรียน

อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่อาการอาจไม่ปรากฏก่อนอายุ 10 ปี ทำให้โอกาสในการรักษาทำได้ยากขึ้น โดยในช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่น การพูด การเดิน และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ทั้งนี้ ลำดับการพัฒนาสำคัญๆในแต่ละช่วงเวลา มีดังนี้

วัยทารก (Infants) อายุ 0-1 ปี

ในขวบปีแรก ทารกเรียนรู้ที่จะมอง เอื้อมมือ ค้นหา สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว พัฒนาการของสมองเป็นกระบวนการเรียนรู้ความจำ ภาษา การคิด การให้เหตุผล การเรียนรู้ด้านภาษามีมากกว่าการส่งเสียงหรือการเรียกคำว่า “แม่” “พ่อ” การฟัง การเข้าใจ การรู้จักชื่อคนและสิ่งของ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านภาษา

ระหว่างนี้ ทารกยังมีพัฒนาการด้านความรักและความเชื่อใจจากพ่อแม่และคนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ เช่น การอุ้ม การกล่อม และการเล่นด้วยกับทารก

ในช่วงนี้ในฐานะของพ่อแม่สามารถช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีได้ดังนี้

  • พูดคุยกับทารก ซึ่งทารกจะเรียนรู้ถึงเสียง
  • เมื่อทารกส่งเสียง ให้ขานรับด้วยการเลียนเสียงนั้นและให้เพิ่มเติมคำพูดอื่นๆ ลงไป ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ทารกเรียนรู้ถึงการใช้ภาษาได้มากขึ้น
  • อ่านหนังสือให้ทารกฟัง จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการและเข้าใจถึงเรื่องภาษาและเสียง
  • ร้องเพลงและเล่นดนตรีให้ทารกฟัง เพื่อช่วยให้ทารกรักในเสียงเพลง และช่วยพัฒนาการด้านสมอง
  • ชมเชยทารกและให้ความรักเอาใจใส่
  • โอบกอดด้วยความรัก เพื่อให้ทารกรู้สึกว่าได้รับการดูแลและรู้สึกปลอดภัย
  • เล่นกับทารกเพื่อให้ทารกตื่นตัวและผ่อนคลาย หากสังเกตว่าทารกเหนื่อยก็หยุด
  • ดูแลตัวเองทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และอารมณ์ เพราะหน้าที่ของพ่อแม่อาจเป็นงานหนักได้

บรรณานุกรม

1. Facts About Child Development. https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/ [2016, December 29].