พบสารปรอท-แบคทีเรีย ในเครื่องสำอางสมุนไพร

จากข่าวที่ นพ. ประดิษฐ์ สินธวรงค์ รมว. สาธารณสุข ได้กล่าวภายหลังเปิดงาน นิทรรศการ “สตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2556” ว่าปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าโอทอป (OTOP) ซึ่งผู้ใช้มั่นใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี

แต่จากการเฝ้าระวังโดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง เครื่อง สำอางสมุนไพรมาตรวจ จำนวน 527 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า ตกเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 72 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14 โดยตรวจพบปริมาณรวมของเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา แล้วยังพบเชื้อแบคทีเรียครอสตริเดียม (Clostridium spp.) ด้วยมากถึง 28 ตัวอย่าง เกินกว่าที่กำหนดให้เครื่องสำอางสมุนไพร ว่าจะต้องไม่พบเชื้อครอสตริเดียม เนื่องจากเป็นเชื้ออันตรายก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง เป็นฝีหนอง

เชื้อครอสตริเดียม เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปบนโลกของเรา โดยเชื้อกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ พบมากบนดิน อุจจาระ สิ่งปฏิกูลโสโครก คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียนี้เพิ่มขึ้น โดยติดเชื้อจากบาดแผลที่เปิด รอยถลอกที่ผิวหนัง หรือทางเดินอาหาร

เชื้อครอสตริเดียม เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (gram positive) มีรูปร่างเป็นแท่ง (Rod) จับกันเป็นคู่ หรือเป็นสายโซ่สั้นๆ มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ (genus) แพร่พันธุ์โดยการสร้างสปอร์ (spore) แต่มีเพียงบางสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคในคน

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียผลิตสารชีวพิษ (Toxin) ซึ่งทำให้เกิดโรคในคนโดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร อาการหลังจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดคือ มีไข้ (Fever) หนาวสั่น (Chilly) และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ระหว่างร้อยละ 25 - 50

อย่างไรก็ดี โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน หรือจากสัตว์ไปสู่คน เมื่อมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้สามารถกำจัดเชื้อได้โดยยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) หลายตัว อาทิเช่น Pennicillin, Clindamycin, Chloramphenical, Piperacillin, Metronidazole, Imipenam รวมทั้งยารวมกันระหว่าง Beta-lactams กับ Betalactamnase inhibitors

อาการของโรค สังเกตได้จากลักษณะทางคลินิกและการเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากบาดแผล สังเกตจากฝีและก๊าซในเนื้อเยื่อ ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้บอกว่าต้องทำการรักษาอย่างทันที การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก็โดยทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (Antiseptic) และกินยาปฏิชีวนะ

เชื้อครอสตริเดียมเอสพีพี (Clostridium spp.) ที่พูดถึงนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่รุนแรงมากนักในคน ไม่นับรวมเชื้อในสายพันธ์นี้อีก 4 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรง คือ Clostridium botulinum, Clostridium difficile, Clostridium perfingens, Clostridium tetani

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ว่าจะต้องไม่ตรวจพบแบคทีเรียชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฉะนั้นผู้บริโภคควรใช้ผลิตภัณฑ์อย่างระมัดระวัง โดยดูที่ภาชนะของบรรจุภัณฑ์ ว่าต้องมีเครื่องหมาย อย. เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้

แหล่งข้อมูล:

  1. เครื่องสำอางสมุนไพร ตกมาตรฐานร้อบละ 14 พบสารปรอท-แบคทีเรีย http://www.naewna.com/local/37988 [2013, January 21].
  2. Poxton, I. R. (2006). Other Clostridium spp. In S. H. Gillespie, & P.M. Hawley(Eds.), Prnciples and Practice of Clinical Bacteriology (2nd) ed., pp 567-574).
  3. Clostridium spp. http://www.phac-aspc.gc.ca/lab-bio/res/psds-ftss/clostridium-spp-eng.php [2013, January 21].