ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม (ตอนที่ 3)

ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม

การทำงานของประสาทหูเทียมมีลักษณะดังนี้

  • ไมโครโฟนรับเสียง
  • เสียงถูกส่งไปยังอุปกรณ์แปลงสัญญาณ
  • อุปกรณ์แปลงสัญญาณวิเคราะห์เสียงและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า
  • ตัวส่งสัญญาณ จะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ภายใน
  • อุปกรณ์ภายในจะควบคุมสัญญาณไฟฟ้าถึงความดังและระดับเสียงที่ส่งไปยังเส้นประสาท
  • เส้นประสาทในสมองจะถูกกระตุ้นและแปลเสียงที่ได้ยิน

ประสาทหูเทียม (Cochlear implant) จะแตกต่างจากเครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) ตรงที่เครื่องช่วยฟังจะทำหน้าที่ขยายเสียงให้ดัง เพื่อให้หูส่วนที่เสียสามารถได้ยินได้ ในขณะที่ประสาทหูเทียมจะตรงไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองโดยตรงเลย

เด็กและผู้ใหญ่ที่หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินอย่างมากจะเหมาะกับการใช้ประสาทหูเทียม โดยองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration = FDA) ได้เริ่มอนุมัติให้มีการใช้ประสาทหูเทียมมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2523 เพื่อรักษาการได้ยินในผู้ใหญ่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2543 จึงได้อนุมัติให้ใช้ประสาทหูเทียมในเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือน และมีการประเมินว่า ณ เดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ทั่วโลกมีการใช้ประสาทหูเทียมประมาณ 324,200 ราย

การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะนอกจากขั้นตอนของการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงแล้ว หลังการผ่าตัดยังต้องมีกระบวนการเรียนรู้การแปลงสัญญาณเสียงซึ่งต้องใช้เวลาและการฝึกฝนโดยนักแก้ไขการพูดและภาษา (Speech-language pathologists) และ นักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologists)

สำหรับการทดสอบการได้ยินสามารถทำได้โดย

  • การตรวจสอบทางกายภาพของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ว่าปกติหรือมีการติดเชื้อหรือไม่
  • การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram)
  • ทดสอบการใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid)

คนที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินอย่างรุนแรง การผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียมอาจเท่ากับการเปลี่ยนชีวิตได้ ทั้งนี้ผลที่ได้รับในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียมมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ดังนี้

ข้อดี

  • อาจจะได้ยินเสียงใกล้เคียงกับระดับปกติ
  • อาจจะเข้าใจคำพูดได้โดยไม่ต้องอาศัยการอ่านริมฝีปาก
  • ทำให้ง่ายต่อการโทรศัพท์และฟังเสียงโทรทัศน์
  • อาจจะได้ยินเสียงเพลงดีกว่าแต่ก่อน
  • สามารถจับเสียงต่างชนิดได้ เช่น เสียงที่ค่อย เสียงปานกลาง และเสียงที่ดัง
  • สามารถควบคุมเสียงพูดของตัวเองเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้

แหล่งข้อมูล

1. Cochlear implant. https://www.nidcd.nih.gov/health/cochlear-implants [2016, June 17].

2. Understanding Cochlear Implants. http://www.webmd.com/healthy-aging/understanding-cochlear-implants [2016, June 17].

3. Cochlear implant. http://kidshealth.org/en/parents/cochlear.html [2016, June 17].