ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม (ตอนที่ 1)

ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม

นายศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวภายหลังร่วมเปิดโครงการ "International Ear Care day 2016 การได้ยิน มีคุณค่าต้องรักษาไว้" ว่า ในปี 2559 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้ดำเนินโครงการ "แก้ไขปัญหาการได้ยิน 84 ราย ถวายเป็นพระราชกุศล" เพื่อรณรงค์หารายได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่มีปัญหาทางการได้ยิน ให้ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม

โดยมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ ได้ร่วมกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโครงการ "International Ear Care day 2016 การได้ยิน มีคุณค่าต้องรักษาไว้" ขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันรณรงค์ให้มีการใส่ใจเรื่องการดูแลหู

เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของการได้ยินแก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีบุตรหลานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ให้ได้รับความรู้การดูแลรักษาควบคู่ไปกับการดูแลเอาใจใส่จากทางครอบครัว โรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาทางด้านภาษา การพูด สังคม และอารมณ์ที่ดี รวมถึงมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจากการรณรงค์หารายได้ตามโครงการดังกล่าว เพื่อให้ใช้ชีวิตที่เป็นปกติและไม่เป็นภาระของสังคมต่อไป

ทั้งนี้ พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลลูกให้มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงเติบโตสมวัย วิธีง่ายๆ ที่พอจะรู้ได้ก็คือ การสังเกตุพัฒนาการของลูกน้อยตั้งแต่แรกคลอด สังเกตุปฏิกริยาของทารกว่า รู้จักยิ้ม มองหน้า จ้องตา หันมองตามเสียง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ที่ทารกรับรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่แล้ว ถ้าผ่าน 6 เดือนไปแล้ว พัฒนาการเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน ก็คงพอจะอนุมานได้ว่า น่าจะมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ซึ่งการไม่ได้ยินเสียงจะส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถพูดได้ในเวลาต่อมาเช่นกัน

จากสถิติพบว่า เด็กไทยอายุ 2 ปี ที่พูดช้ามีมากถึงร้อยละ 10-15 และร้อยละ 5 พบเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว โดยเด็กผู้ชายพูดช้ากว่าเด็กผู้หญิงถึง 3 เท่า ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการสูญเสียการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา หรือเป็นเด็กออทิสติก

โดยเด็กทารกไทยในปัจจุบันบางคนทิ้งเวลาไว้ 1-2 ปี เพิ่งจะรู้สึกตกใจว่า ลูกพูดไม่ได้เมื่ออายุ 2 ปี หรือเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว ดังนั้น ระยะแรกเกิดจนถึง 2 ปี จึงเป็นช่วงเวลาทองในการที่จะตรวจพบและดูแลแก้ไข ยิ่งรู้เร็วยิ่งดี มีโอกาสรักษาและแก้ไขได้ผลมากกว่า

ก่อนพูดถึงประสาทหูเทียม เรามาทำความเข้าใจเรื่องหูกันก่อนว่า ปกติหูจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อหูชั้นนอกทำหน้าที่จับแรงสั่นสะเทือนของเสียงแล้วส่งผ่านช่องหู (Ear canal) ไปยังหูชั้นกลาง ซึ่งประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ 3 ชิ้น แรงสั่นสะเทือนของเสียงจะทำให้กระดูกชิ้นเล็กๆ สั่น ทำให้น้ำในอวัยวะรูปหอยโข่ง (Cochlea) ในช่องหูเคลื่อนไหว และเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เซลล์ขน (Hair cells) ในหูสั่น ส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมาย

โดยเซลล์ขนในหูสามารถถูกทำลายได้ด้วยหลายปัจจัย เช่น อายุ กรรมพันธุ์ โรค การติดเชื้อ การได้ยินเสียงดังบ่อยๆ ซึ่งหากเซลล์ขนทำงานไม่ได้ ประสาทการได้ยินก็จะไม่ถูกกระตุ้น ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลไปยังสมอง และไม่ได้ยินในที่สุด

แหล่งข้อมูล

1. มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ จัดโครงการ "International Ear Care day 2016 การได้ยิน มีคุณค่าต้องรักษาไว้". http://thainews.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNSOC5903030010061 [2016, June 15].

2. Cochlear implant. http://kidshealth.org/en/parents/cochlear.html [2016, June 15].