ฝืนไม่ไหว ใจให้หยิบ (ตอนที่ 3)

ฝืนไม่ไหวใจให้หยิบ

โรคคลีฟโทมาเนียมักเริ่มเป็นตอนวัยรุ่นหรือวัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ มีส่วนน้อยที่เริ่มเป็นเมื่อตอนแก่ โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็น เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องเป็น โรคคลีฟโทมาเนีย โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder = OCD) หรือ มีปัญหาเรื่องสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • เป็นเพศหญิง เพราะ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคคลีฟโทมาเนียจะเป็นผู้หญิง
  • มีปัญหาป่วยทางจิต เช่น โรคไบโพล่าร์ (Bipolar disorder) โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) โรคการกินผิดปกติ (Eating disorder) ติดสารเสพติด (Substance use disorder) หรือ บุคลิกภาพแปรปรวน (Personality disorder)
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือศีรษะ

หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา โรคคลีฟโทมาเนียจะก่อให้เกิดปัญหาต่ออารมณ์ ครอบครัว หน้าที่การงาน เพราะกรณีที่ไม่สามารถต้านทานต่อแรงกระตุ้นในการอยากขโมย และทำการขโมย จะทำให้รู้สึกละอาย รังเกียจตัวเอง (Self-loathing) และ รู้สึกอัปยศอดสู (Humiliation) ทั้งยังมีเรื่องของการฟ้องร้องทางกฏหมายด้วย

ในกระบวนการรักษาจะมีทั้งการทดสอบทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยวิเคราะห์จากอาการที่เป็น ซึ่งแพทย์อาจ

  • ถามคำถามเกี่ยวกับแรงผลักดัน (Impulse) ว่าทำให้รู้สึกอย่างไร
  • มีการทบทวนเกี่ยวกับสถานการณ์ว่า มีสถานการณ์ไหนที่กระตุ้นให้อยากหยิบฉวยบ้าง
  • ทำแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาหรือประเมินผลตนเอง

โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ใช้คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders = DSM-5) เป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ซึ่งคู่มือนี้จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) และถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางโดยแพทย์ นักวิจัย ผู้ผลิตและผู้ตรวจสอบคุณภาพยาในทางจิตเวช และบริษัทประกันภัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ได้กล่าวถึงลักษณะดังนี้

  • ไม่สามารถต้านทานต่อแรงกระตุ้นในการหยิบขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือเป็นสิ่งของที่ไม่มีราคารู้สึกเครียดมากขึ้นก่อนที่จะลงมือขโมย
  • มีความรู้สึกยินดี ผ่อนคลาย หรือพึงพอใจ ระหว่างที่ขโมย
  • การขโมยไม่ได้เป็นไปเพื่อการแก้แค้นหรือแสดงถึงความโกรธ และไม่ได้ทำในระหว่างที่มีอาการประสาทหลอน (Hallucinating) หรืออาการหลงผิด (Delusional)
  • การขโมยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความประพฤติผิดปกติ (Conduct disorder) ภาวะแมเนียของโรคไบโพลาร์ (Manic episode of bipolar disorder) หรือบุคลิกภาพแปรปรวนชนิดต่อต้านสังคม (Antisocial personality disorder)

บรรณานุกรม

1. Kleptomania. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kleptomania/basics/definition/con-20033010 [2017, February 10

2. Kleptomania. http://my.clevelandclinic.org/health/articles/kleptomania [2017, February 10]