ผ่าต้อกระจก มรดกคนชรา

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่ ในปี 2555 นี้ สปสช.ตั้งเป้าว่าจะผ่าตัดตาต้อกระจกในผู้สูงอายุ 100,000 ราย เพิ่มจากปี 2554 ที่ผ่าตัดตาเพียง 80,000 ราย โดยการบริหารงบและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่ชดเชยค่าผ่าตัดข้างละ 7,000 – 9,000 บาท และค่าเลนส์ข้างละ 700 บาท หรือ 2,800 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของเลนส์ ซึ่งจะมีการติดตามประเมินผลโดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

ต้อกระจก (Cataract) คือสภาวะขุ่นมัวของการมองเห็น ที่วิวัฒนาขึ้นภายในแก้วตา (Lens) ซึ่งปกติจะใส โดยมีระดับขุ่นมัวต่างๆกัน อาจเป็นความขุ่นมัวเพียงเล็กน้อยจนถึงเกือบทั้งหมดและทึบแสงไปเลย ในช่วงต้นของวิวัฒนการต้อกระจก (ซึ่งสัมพันธ์กับอายุ) ระดับความขุ่นมัวของแก้วตาอาจเพิ่มขึ้น จนเป็นสาเหตุของภาวะสายตาสั้น (Myopia)

เมื่อเวลาผ่านพ้นไป การแปรสภาพเป็นสีเหลืองขึ้น และการขุ่นมัวมากขึ้นของแก้วตา อาจลดการมองเห็นของสีน้ำเงิน ต้อกระจกมักวิวัฒนาอย่างช้าๆ แต่เป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นและมีโอกาสที่จะกลายเป็นตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะเช่นนี้มักกระทบต่อตาทั้งสองข้าง โดยที่ตาข้างหนึ่งมักได้รับผลกระทบก่อนตาอีกข้างหนึ่ง

ต้อกระจกเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ (Senile cataract) มีลักษณะแรกเริ่มของการขุ่นมัวในแก้วตา ต่อมาจะมีการบวมของแก้วตาและในที่สุดแก้วตาจะหดตัวลง พร้อมการสูญเสียการมองเห็น เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ส่วนนอกของต้อกระจกจะกลายเป็นของเหลวสีขาวคล้ายนม ซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรง

ถ้าถุงหุ้มแก้วตาเกิดการฉีกขาดและมีรูรั่วแล้วไม่ได้รับการรักษา จะเป็นสาเหตุของการเกิดต้อหิน (Glaucoma) ต้อกระจกที่เป็นมากพร้อมเอ็นขึงแก้วตาที่หย่อน เป็นสาเหตุของการเคลื่อนย้ายแก้วตาจากที่เดิมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ต้อกระจกจะไม่มีวิธีป้องกันที่พิสูจน์แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์ การสวมแว่นตาที่ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet) อาจชะลอวิวัฒนาการของต้อกระจก การกินอาหารเสริมเพื่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อาทิ วิตามินเอ ซี และอี อาจช่วยได้ในเชิงทฤษฏี แต่ในทางปฏิบัติยังมิได้มีการพิสูจน์ว่าได้ผล

การผ่าตัดเพื่อเอาต้อกระจกออก สามารถทำได้ไม่ว่าต้อกระจกได้วิวัฒนาไปถึงขั้นไหน ไม่มีเหตุผลที่ควรจะรอจนกว่าต้อกระจกจะ “สุก” จึงจะเข้ารับการผ่าตัดได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดทุกครั้งมีความเสี่ยง จึงควรรอคอยจนถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสายตา แล้วค่อยการผ่าตัด

วิธีรักษาที่ได้ผลมากที่สุด คือการผ่าตัดเข้าไปในถุงหุ้มแก้วตาที่ขุ่นมัว เพื่อเอาแก้วตาธรรมชาติออก แล้วฝังด้วยเลนส์เทียมพลาสติก (Intraocular lens implant) ซึ่งจะแทนที่แก้วตาธรรมชาติอย่างถาวร และที่นิยมกัน คือการผ่าตัดจากภายนอกถุงหุ้ม (Extracapsular cataract extraction : ECCE) โดยที่ไม่แตะต้องส่วนใหญ่ของถุงหุ้มแก้วตา แต่ผ่านกระบวนการ Phacoemulsification ที่ทำให้แก้วตาแตกหักก่อนดึงแก้วตาออก ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การผ่าตัดมักอาศัยยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics) และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน เทคโนโลยีของการผ่าตัดแก้วตาธรรมชาติได้เจริญก้าวหน้าไปถึงขั้นสามารถให้ผู้ป่วยเลือกเลนส์ที่ใช้ได้กับทั้งสายตาสั้นและสายตายาว (Multifocal lens) เพื่อลดการพึ่งพาแว่นตา [หลังการผ่าตัด] เพราะเลนส์ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นที่ควบคุมได้ด้วยกล้ามเนื้อตาเช่นเดียวกับแก้วตาธรรมชาติ

ต้อกระจกเป็นสาเหตุหลักของ 48% ของการตาบอดทั่วโลก ซึ่งมีจำนวน 18 ล้านคนตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยเป็นต้อกระจกจะเติบโตขึ้น จนเป็นสาเหตุหลักการตาบอดในประเทศด้อยพัฒนา

แหล่งข้อมูล:

  1. สปสช.เล็งปี'55ผ่าต้อกระจกคนชราเพิ่ม http://www.thaipost.net/news/030112/50481 [2012, January 13].
  2. Cataract. http://en.wikipedia.org/wiki/Cataract [2012, January 13].