ผ่าตัดต้อกระจก หนึ่งหมื่นราย (ตอนที่ 2)

ต้อกระจกอาจเกิดในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้เกิดจากการติดต่อจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ต้อกระจกอาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เราอาจสังเกตไม่เห็น เมื่อมีการพัฒนาขึ้นจะทำให้ตามัว ถ้าเลนส์ตาทั้งหมดเป็นสีขาวจะเรียกว่า “ต้อกระจกสุก” ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการมองอย่างมาก ไม่แนะนำให้รอจนต้อสุกแล้วค่อยผ่า

เราไม่ค่อยพบต้อกระจกในเด็ก แต่ถ้าเป็นก็จะเป็นแบบรุนแรง เพราะหากต้อกระจกไปทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาเด็กได้น้อยลง ประสาทสมองส่วนที่ใช้ในมองเห็นจะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จะทำให้เด็กมองเห็นได้ไม่ดี เกิดภาวะตามัวหรือตาขี้เกียจ (Amblyopia) แม้ว่าจะมีการผ่าเอาต้อออกแล้วก็ตาม

ต้อกระจกเป็นอาการที่ค่อยๆ เกิดขึ้นแบบช้าๆ และไม่เจ็บปวด คนส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นต้อกระจกเมื่ออายุที่ 40 หรือ 50 ปีขึ้นไป แต่ในระยะนี้ต้อกระจกยังมีขนาดเล็กและไม่กระทบต่อการมองเห็น การมองเห็นภาพมัวมักเกิดขึ้นหลังอายุ 60 ปี แต่ยังไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก จนกระทั่งอายุ 75 ปี เมื่อคนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในการมองเห็นเนื่องจากต้อกระจก

ต้อกระจกที่เกิดจากการอายุมากขึ้น อาจกระทบต่อการมองเห็นได้ 2 ทาง โดย

  1. การจับกันเป็นกลุ่มก้อนของโปรตีนในตา จะลดความคมชัดของภาพที่เห็นที่จอประสาทตาหรือจอรับภาพ (Retina) ทั้งนี้เพราะเลนส์ตา (Lens) ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยน้ำและโปรตีน เมื่อโปรตีนจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน จะทำให้เลนส์ตามัวและลดแสงที่จะตกกระทบที่จอรับภาพ เมื่อต้อกระจกยังมีขนาดเล็กอยู่ ความมัวจะปรากฏบนบางส่วนของเลนส์ตา ซึ่งเราอาจสังเกตไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น ต้อกระจกจะค่อยๆ โตขึ้น และการมองเห็นจะค่อยๆ แย่ลง ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีอาการมัวมากยิ่งขึ้น หรือ
  2. เลนส์ตาที่เคยชัดจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล ทำให้มีการเห็นภาพออกเป็นสีน้ำตาล ยิ่งอายุมากขึ้น สีของเลนส์ตาก็จะค่อยๆ กลายเป็นสีน้ำตาล ซึ่งในระยะแรกอาจจะมีขนาดเล็กและไม่ทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น แต่เมื่อนานวันเข้าสีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาในการอ่านหรือการทำกิจวัตรประจำวัน อย่างไรก็ดีระดับของสีที่เปลี่ยนไปไม่ได้กระทบต่อความคมชัดของภาพ

แม้ว่าโอกาสในการเกิดต้อกระจกส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ก็มีต้อกระจกที่มีชื่อเรียกตามเหตุที่เกิดด้วยเช่นกัน คือ

  • Secondary cataract เป็นต้อกระจกที่อาจเกิดภายหลังการผ่าตัดตาอันเนื่องมาจากปัญหาอย่างอื่น เช่น ต้อหิน
  • Traumatic cataract เป็นต้อกระจกที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ตา ซึ่งอาจเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บเป็นปีก็ได้
  • Congenital cataract เป็นต้อกระจกแต่แรกเกิด เด็กบางคนอาจเป็นต้อตั้งแต่แรกเกิดและมักเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยต้อนี้อาจมีขนาดเล็ก ไม่กระทบต่อการมองเห็นมากนั้น แต่ถ้ากระทบก็ต้องผ่าออก Radiation cataract เป็นต้อที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับรังสีบางชนิด

แหล่งข้อมูล:

  1. Cataracts - What Happens. http://www.webmd.com/eye-health/cataracts/cataracts-what-happen [2013, January 29].
  2. Cataract Defined. http://www.nei.nih.gov/health/cataract/cataract_facts.asp [2013, January 29].