ผ่าตัดต้อกระจก ยกนิ้วให้ รพ. บ้านแพ้ว (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการผลการศึกษาของทีมแพทย์เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า การผ่าตัดเคลื่อนที่ [ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว] มีมาตรฐานระดับโลกสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก โดยผู้ป่วยหลังผ่าตัดร้อยละ 85.5 สามารถมองเห็นได้ใกล้เคียงปกติ ส่วนมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (Word Health Organization : WHO) กำหนดให้อยู่ที่ร้อยละ 80

ส่วนผลแทรกซ้อนโดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อ มีน้อยมาก โดยใน 5 ปี พบเพียง 1 ราย ขณะที่โดยทั่วไปจะพบอัตราการติดเชื้อได้ 1 ต่อ 1,000 คน จึงนับว่าเป็นผลงานที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมและเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากปัจจุบันการรักษาโรคตาต้อกระจก มีข้อจำกัดเพราะทำได้ในเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ที่มีจักษุแพทย์ ใช้เครื่องมือเฉพาะ และจักษุแพทย์ มักกระจุกในตัวในเมือง ทำให้ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก [ในต่างจังหวัด] ต้องรอคิวรักษายาวนาน

โดยปกติ ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกนั้น มี 2 วิธี โดยที่วิธีแรก หัตถการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) คือ การกรีดรอยเล็กบริเวณด้านหน้าของลูกตา และใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasoound) ซึ่งมีขนาดบางและแหลมเท่าเข็มแย่เข้าไป เพื่อทำให้ต้อกระจกแตก และดูดเศษที่แตกออกไป ดังนั้น จึงเหลือพื้นที่ข้างหลังเลนส์ไว้ สำหรับใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทน ขั้นตอนนี้ อาจมีการเย็บรอยกรีดหรือไม่ก็ได้

อีกวิธีหนึ่ง การลอกต้อกระจกจากเบ้าตา (Extracapsular cataract extraction) เป็นวิธีที่นิยมใช้น้อยกว่าวิธีแรก เนื่องจากต้องกรีดรอยขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้แพทย์ใช้เครื่องมือเข้าไปผ่าตัดเอาส่วนที่ขุ่นมัวออกจากเลนส์ และใช้เครื่องมือเข้าไปดูดเอาส่วนที่ผ่าออกทิ้งได้ แล้วก็จะเหลือพื้นที่ข้างหลังเลนส์ สำหรับเลนส์เทียมที่เข้าไปแทนที่ ขั้นตอนนี้มักต้องเย็บเพื่อปิดรอยกรีด

หลังจากต้อกระจกถูกผ่าออกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะมีการปลูกถ่าย (Implant) เลนส์เทียม หรือที่เรียกกันว่า “เลนส์ในลูกตา” (Intraocular lens: IOL) ลงในถุงหุ้มเลนส์ที่ว่างเปล่าหลังจากเอาเลนส์ที่เป็นต้อกระจกออกไปแล้ว (Empty capsule) ซึ่งเลนส์เทียมดังกล่าว ทำมาจากพลาสติกอะครีลิค (Acrylic) หรือ ซิลิโคน (Silicone) คุณจึงไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ ข้อดีก็คือเลนส์เทียมไม่ ต้องการดูแลรักษาใดๆ แต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตาคุณอย่างถาวร

โดยทั่วไป เลนส์เทียมมีหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ บางชนิดทำด้วยพลาสติกแข็ง (Rigid plastic) และปลูกถ่ายผ่าน การผ่าตัด (Incision) ซึ่งต้องเย็บหลายเข็ม (Stitches) เพื่อปิดแผล อย่างไรก็ดี เลนส์เทียมบางชนิดก็ยืดหยุ่นได้ (Flexible) ทำให้การผ่าตัดเกิดแผลที่เล็กลง จนไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล โดยจักษุแพทย์จะพับเลนส์ชนิดนี้ และสอดเข้าไปในถุงหุ้มเลนส์ที่ว่างเปล่า ที่ซึ่งเลนส์ธรรมชาติ (Natural lens) เคยสถิตอยู่ และเมื่ออยู่ในดวงตาแล้ว เลนส์พับนี้ จะคลี่บานออกจนยึดติดกับถุงหุ้มเลนส์

เลนส์บางขนิดจะปกป้องสายตาจากแสงอุลตราไวโอเลต (Ultraviolet light) ได้ และบางชนิดก็สามารถใช้ได้กับสายตาสั้น และสายตายาวไปพร้อมกัน (Bifocals or multifocal vision) คุณสามารถเรียนรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของเลนส์เทียมแต่ละชนิดจากจักษุแพทย์ของคุณ เพื่อปรึกษาว่าเลนส์เทียมชนิดใดเหมาะสมกับดวงตาของคุณที่สุด

แหล่งข้อมูล:

  1. ปลื้ม! ทีมผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ รพ.บ้านแพ้ว ได้มาตรฐานระดับโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000122928&Keyword=%CA%D2%B8%D2%C3%B3%CA%D8%A2 [2012, October 10].
  2. [Cataract Surgery] What you can expect - http://www.mayoclinic.com/health/cataract-surgery/MY00164/DSECTION=what%2Dyou%2Dcan%2Dexpect [2012, October 10].