ผ่าตัดต้อกระจก ยกนิ้วให้ รพ. บ้านแพ้ว (ตอนที่ 1)

นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (ซึ่งเป็นองค์การมหาชน) โดยได้เยี่ยมชมศูนย์จักษุและต้อกระจก รวมทั้งรถผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ของโรงพยาบาล ซึ่งการทำงาน ของโรงพยาบาลที่โดดเด่นมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ คือการผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ โดยจักษุแพทย์เชี่ยวชาญ 7 คน

การผ่าตัดดังกล่าว มีทั้งด้านจอประสาทตา ต้อหิน และกระจกตา พร้อมเครื่องมือทันสมัย ในปัจจุบันได้จัดบริการเชิงรุก โดยพัฒนารถผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ 1 คัน มูลค่า 10 ล้านบาท ให้บริการโดยไม่คิดเงิน สามารถผ่าตัดได้ครั้งละ 4 เตียง ใช้เวลาผ่าตัดเร็วมาก คนละ 12 นาที แพทย์ 1 คน ทำการผ่าตัดตาได้วันละ 50 - 70 ดวง

ต้อกระจก (Cataract) คือลักษณะของโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เลนส์ของดวงตาที่เคยโปร่งใสนั้น เกิดอาการขุ่นมัว และความสามารถในการมองเห็นลดลง โดยปกติแล้ว ต้อกระจกจะวิวัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามอายุที่มากขึ้น มักเกิดกับคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แม้จะมีบางกรณีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนวัยอันควร

สาเหตุของต้อกระจก อาจเกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงในดวงตา การผ่าตัดตา การอักเสบในดวงตา (Intraocular inflammation) การจ้องแสงอัลตราไวโอเลตมากเกินไป การสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีที่ปล่อยไอออนออกมา (Ionizing radiation) เบาหวาน (Diabetes) การสูบบุหรี่ และการใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) บางตัว แบบกิน ทา หรือ สูดเข้าปอด

อาการของการเป็นต้อกระจกนั้น เหมือนกับการมองผ่านกระจกรถที่สกปรก หรือเลนส์กล้องที่เปื้อนคราบมัน ต้อกระจกส่งผลกระทบต่อการมองเห็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองไม่ชัด การที่ตาไม่สามารถสู้แสงจ้า อย่างดวงอาทิตย์ หรือไฟหน้ารถตอนกลางคืนได้ การเห็นสีไม่ชัด สายตาที่สั้นขึ้น และการเห็นภาพซ้อน (Double vision)

สำหรับคนที่เป็นต้อกระจกและยังไม่อยากผ่าตัด ในช่วงแรกที่สายตาเริ่มเปลี่ยนเพราะต้อกระจก การใส่แว่นสายตาอาจช่วยได้บ้าง แต่เมื่อต้อกระจกเริ่มหนาและมัวขึ้นเรื่อยๆ แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ก็ไม่สามารถช่วยให้การมองเห็นได้ดีขึ้นอีกต่อไป

หากเรื่องเป็นเช่นนี้ และต้อกระจกทำให้การทำกิจวัตรประจำวันกลายเป็นเรื่องลำบาก แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก นอกจากปัจจัยเรื่องนี้แล้ว ยังมีกรณีที่ต้อกระจกไปขัดขวางการรักษาปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับดวงตา เช่น การเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาตามวัย (Age-related macular degeneration) หรือโรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) ซึ่งต้อกระจกทำให้จักษุแพทย์ลำบากในการตรวจบริเวณหลังดวงตา เพื่อวินิจฉัยโรค

หากคุณไม่ได้เข้าข่ายปัจจัยข้างบนดังกล่าว โดยปกติแล้ว การรอสักพักก่อนผ่าตัดต้อกระจก ไม่ได้ทำให้ดวงตาของคุณแย่ลง คุณจึงมีเวลาพอที่จะพิจารณาทางเลือกของตัวเอง หากการมองเห็นคุณยังค่อนข้างดี คุณอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดไปอีกหลายปี ดังนั้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับตนเองดู

คุณมองเห็นเป็นปกติพอที่จะทำงานหรือขับรถอย่างปลอดภัยหรือไม่ มีปัญหาในการอ่านหรือดูโทรทัศน์หรือไม่ มีความยากลำบากในการทำอาหาร ซื้อของ ทำสวน ปีนบันได หรือรักษาโรคด้วยยาหรือไม่ ปัญหาด้านการมองเห็น ทำให้คุณพึ่งพาตัวเองได้น้อยลงหรือไม่ มีปัญหาในการมองเห็นหน้าคนไม่ชัดหรือไม่ และแสงจ้าๆ ทำให้ยากต่อการ มองเห็นหรือไม่ หากคำตอบส่วนใหญ่คือ “ใช่” คุณอาจต้องเริ่มเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. ปลื้ม! ทีมผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ รพ.บ้านแพ้ว ได้มาตรฐานระดับโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000122928&Keyword=%CA%D2%B8%D2%C3%B3%CA%D8%A2 [2012, October 8].
  2. Cataract Surgery. http://www.mayoclinic.com/health/cataract-surgery/MY00164 [2012, October 8].
  3. Cataract Surgery. http://www.medicinenet.com/cataract_surgery/article.htm [2012, October 8].