ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ กลไกสมัยใหม่ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประสบผลสำเร็จในการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดช่องท้อง ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะอื่นๆ ตลอดกว่า 5 ปีที่ผ่านมา จึงมีโครงการเพิ่มหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอีกหนึ่งเครื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น โดยมีความมุ่งหวังจะเป็นศูนย์ความป็นเลิศ (Center of Excellence) ของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์เป็นทางเลือก

ระบบการผ่าตัด da Vinci ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) สหรัฐอเมริกา ให้ใช้กับหัตถการผ่าตัด (Surgical procedure) ที่หลากหลาย

โรงพยาบาลกว่า 800 แห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ใช้ระบบการผ่าตัด da Vinci ในหัตถการ 48,000 ครั้งในปี พ.ศ. 2549 และขายในราคา $1.2 ล้าน (ประมาณ 36 ล้านบาท) ต่อมามีการปรับราคาขายเครื่องเป็น $1.39 ล้าน (ประมาณ 417 ล้านบาท) และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้แล้วทิ้ง ในราคา $1,500 (ประมาณ 45,000 บาท) ต่อ 1 หัตถการ

ระบบใหม่ที่มีความคมชัดสูง (da Vinci HD SI) นำเสนอสู่ตลาดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 และขายในราคา $1.75 ล้าน (ประมาณ 52.5 ล้านบาท) ดังนั้นต้นทุนรวมต่อหัตถการค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เพื่อให้ระบบทำงานอย่างสมบูรณ์ จึงมีงานวิจัยหลายชิ้น เพื่อวิเคราะห์ว่า การซื้อระบบดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่

ปรากฏว่า ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างมาก ศัลยแพทย์รายงานว่า แม้ผู้ผลิตระบบผ่าตัดดังกล่าว มักจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องเทคโนโลยีใหม่นี้อยู่แล้ว แต่ขั้นตอนของการเรียนรู้ค่อนข้างเข้มข้น และศัลยแพทย์จะต้องผ่าตัดผู้ป่วย 12 ถึง 18 ราย ก่อนที่จะคุ้นเคยพอที่จะปรับเปลี่ยนเองได้

ขั้นตอนของการฝึกอบรมเรื่องการผ่าตัดแบบใหม่นี้ อาจกินเวลานานถึง 2 เท่า ของการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (Traditional surgery) อันนำไปสู่การใช้บุคลากรและเวลาในห้องผ่าตัดที่ยาวนานขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้ยาสลบ (Anesthesia) ยาวนานขึ้นเช่นกัน [ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย]

การสำรวจผู้ป่วย พบว่าการที่เขาเลือกหัตถการนี้ เกิดจากพื้นฐานความคาดหวังให้พยาธิสภาพ (Morbidity) ลดลง อาทิ การลดลงของการสูญเสียเลือดและความเจ็บปวด รวมทั้งผลลัพธ์ (Outcome) ที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังที่สูงขึ้นนี้อาจอธิบายอัตราความไม่พึงพอใจที่สูงตามไปด้วย [หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด]

อย่างไรก็ตาม เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (Learning curve) ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับศัลยแพทย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้ระบบได้ การศึกษาวิจัยพบว่า บางหัตถการในอดีตมักเป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ (Large incision) ซึ่งสามารถแปลง (Converted) ให้เป็นหัตถการที่รุกล้ำร่างกายน้อยที่สุด โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ใช้ระบบ Da Vinci จะลดจำนวนวันที่ต้องในนอนพักในโรงพยาบาล และลดเวลาฟื้นฟูอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจนว่า ต้นทุนที่สูงมากของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ มีประสิทธิผลในเรื่องต้นทุน (Cost-effective) สำหรับโรงพยาบาลและแพทย์ แม้ในอนาคตผลประโยชน์ต่อผู้ป่วย อาจได้จากการเบิกจ่ายจากรัฐและบริษัทประกันสุขภาพก็ตาม

แหล่งข้อมูล:

  1. ศิริราชสุดเจ๋งเตรียมเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ช่วยผ่าตัด http://www.naewna.com/local/23996 [2012, October 5].
  2. Robotic surgery. http://en.wikipedia.org/wiki/Robotic_surgery [2012, October 5].