ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ กลไกสมัยใหม่ (ตอนที่ 2)

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 และประสบความสำเร็จในการผ่าตัดผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นสถิติของจำนวนผู้ป่วยที่มากเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลได้มีการพัฒนาการใช้หุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. 2528 มีการใช้หุ่นยนต์ตัวแรกชื่อ PUMA 560 ในการวางตำแหน่งเข็มเพื่อการตัดชิ้นเนื้อสมอง (Brain biopsy) โดยใช้ ซีที (CT = Computed Tomography) นำทาง ในปี พ.ศ. 2531 นายแพทย์ Senthil Nathan ได้ใช้หุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งชื่อ PROBOT ซึ่งพัฒนาโดย Imperial College London ในการผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Prostatic surgery) ณ โรงพยาบาล Guy's and St Thomas' ในนครลอนดอน

ในปี พ.ศ. 2535 มีการใช้หุ่นยนต์ ROBODOC จากบริษัท Integrated Surgical Systems ในการกำหนดตำแหน่งที่แม่นยำ (Precise) ณ กระดูกต้นขา (Femur) ในการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม (Hip replacement) การพัฒนาระบบหุ่นยนต์ได้ก้าวหน้าต่อไปจนกระทั่งบริษัท Intuitive Surgical ณ เมือง Mountain View รัฐแคลิฟอเนีย นำเสนอสู่ตลาดระบบผ่าตัดที่ชื่อ da Vinci Surgical System

ระบบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ (1) แผงควบคุมของศัลยแพทย์ (Surgeon’s console) (2) รถเข็นหุ่นยนต์ (Robotic cart) ข้างผู้ป่วย พร้อมแขน 4 แขน/เครื่อง ซึ่งศัลยแพทย์ใช้ในการผ่าตัด โดยแขน 1 เครื่องใช้เป็นกล้องถ่ายรูป และอีก 3 เครื่อง ใช้เป็นเครื่องมือในการผ่าตัด และ (3) ระบบทัศนวิสัย 3 มิติที่มีความคมชัดสูง (High definition)

เครื่องมือผ่าตัดซึ่งยึดติดกับแขนของหุ่นยนต์จะได้รับการนำเข้าสู่ร่างกายผ่านท่อ (Cannulas) ต้นแบบของระบบผ่าตัด ระบบผ่าตัด da Vinci ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท SRI International ณ เมือง Menlo Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration : NASA) ของสหรัฐอเมริกา

จุดมุ่งหมายเดิมของหุ่นยนต์ผ่าตัดผ่านลำกล้อง (Tele-surgical robot) ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่าตัดในสนามรบและในสภาพแวดล้อมอื่นๆ โดยมีการควบคุมจากระยะไกล (Remote control) แต่ต่อมาได้พบว่าหุ่นยนต์นี้ มีประโยชน์มากในการผ่าตัดที่รุกล้ำร่างกายน้อยที่สุด (Minimally-invasive surgery)

ระบบผ่าตัด da Vinci สามารถจับความไวต่อการเคลื่อนไหวของลำแขนของแพทย์ แล้วแปลงสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการคลื่อนไหวระดับย่อส่วนจนจิ๋ว (Scaled-down micro-movement) กล้องถ่ายรูปในระบบใช้เพื่อการส่งภาพ (Stereoscopic) ไปยังแผงควบคุมของศัลยแพทย์

การผ่าตัดหัวใจด้วยหุ่นยนต์ (Robotic surgery) ครั้งแรก เกิดขึ้น ณ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยารัฐโอไฮโอ (Ohio State University Medical Center) ภายใต้การอำนวยการของศาสตราจารย์นายแพทย์ Robert E. Michler ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (Cardiothoracic Surgery)

แหล่งข้อมูล:

  1. ศิริราชสุดเจ๋งเตรียมเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ช่วยผ่าตัด http://www.naewna.com/local/23996 [2012, October 3].
  2. Robotic surgery. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/007339.htm [2012, October 3].