ลมชัก:ผู้หญิงกับโรคลมชัก

ผู้หญิงกับโรคลมชัก

โรคลมชักพบได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นโรคที่พบบ่อย แต่ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะโรคลมชักในผู้หญิง ยังเข้าใจว่าผู้หญิงที่เป็นลมชัก ไม่สามารถแต่งงานได้ ไม่สามารถมีลูกได้ ไม่สามารถให้นมลูกได้ และที่น่าตกใจ คือ เข้าใจว่าคนที่เป็นลมชักไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้มีอาการชักได้ง่ายขึ้น จึงทำให้คนที่มีอาการชัก โดยเฉพาะผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เราต้องมาทำความเข้าใจที่ถูกต้องครับ ต้องติดตามประเด็นต่างในผู้หญิง ดังนี้

ความจริงที่ต้องรู้

  • ผู้หญิงที่มีอาการชักสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่งงานได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชักบ่อยขึ้น หรือส่งผลเสียใด ๆ ต่ออาการชักเลย เพียงแต่ต้องมีการวางแผนครอบครัวให้ดีเท่านั้น
  • เมื่อแต่งงานแล้วก็สามารถมีลูกได้ แต่ต้องวางแผนครอบครัวให้ดี ถ้ายังมีอาการชัก ทานยากันชักอยู่ ก็มีโอกาสที่ลูกในครรภ์จะได้รับผลจากยากันชักได้ จึงต้องมีการวางแผนครอบครัว ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อลดผลข้างเคียงจากอาการชักและยากันชักที่ใช้รักษา
  • สามารถให้นมบุตรได้ ถึงแม้น้ำนมที่ให้ลูกทานนั้นจะมียาผ่านออกมาด้วยเสมอ แต่ระดับยาที่ผสมออกมาทางน้ำนมนั้นไม่มีผลใดๆ ต่อลูกเลย

เพียงแค่ท่าน

  • ต้องควบคุมอาการชักให้ดี ยิ่งสามารถหยุดยากันชักได้แล้วยิ่งดี เพราะถ้าหยุดยาได้แล้วจะได้ไม่มีผลของยากันชัก ต่อลูกในครรภ์
  • ถ้าจะตั้งครรภ์ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินอาการชัก ยากันชักที่ทาน เนื่องจากการวางแผนการรักษาที่ดี จะลดผลเสียต่อแม่ที่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้
  • วางแผนครอบครัวให้ดี ถ้าแพทย์แนะนำว่ายังไม่ควรตั้งครรภ์ ก็ต้องวางแผนครอบครัว คุมกำเนิดให้ดี หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดที่มีการตีกัน (drug interaction:อันตรกิริยา) กับยากันชัก
  • เลือกวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย ระวังการตีกันระหว่างยากันชักกับฮอร์โมนคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยในผู้ชายก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่โอกาสพลาดก็มี

ก่อนการตั้งครรภ์

  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอว่าพร้อมในการตั้งครรภ์หรือไม่ โยแพทย์จะประเมินอาการชัก ยากันชักที่ทาน จำนวนยาที่ทาน และความพร้อมด้านสุขภาพอื่นๆ ว่าพร้อมในการตั้งครรภ์หรือไม่
  • ถ้าไม่มีอาการชักเลยมานานมากกว่า 2 ปี ก็สามารถหยุดยากันชักได้ก็ดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แพทย์ก็จะประเมินความเสี่ยงให้เราทราบว่าโอกาสที่จะเกิดผลเสียระหว่างตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
  • ถ้ายังมีอาการชักอยู่ การทานยากันชักน้อยชนิดที่สุด ขนาดต่ำที่สุดก็จะปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
  • แพทย์จะสั่งยากรดโฟลิกให้ทานร่วมด้วยเสมอ เพราะกรดโฟลิกจะลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งต้องทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

ขณะตั้งครรภ์

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ชักได้ง่ายขึ้น เช่น การอดนอน นอนดึก พักผ่อนไม่พอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถ้ายังทานยากันชักอยู่ ก็ต้องทานยาสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง หรือปรับยาเองโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการชักรุนแรงได้
  • ตรวจครรภ์กับแพทย์สม่ำเสมออย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
  • ทานกรดโฟลิกสม่ำเสมอ ห้ามขาด และต้องเริ่มทานก่อนที่จะตั้งครรภ์
  • เมื่อถึงเวลาคลอด แพทย์ก็จะทำการช่วยคลอดด้วยการคลอดทางช่องคลอดปกติ ไม่มีการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดต่อเมื่อคลอดเองไม่ได้ หรือมีข้อบ่งชี้เฉพาะว่าต้องผ่าตัดช่วยคลอด

หลังคลอด

  • ต้องพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหลังคลอดต้องเลี้ยงลูก ให้นมลูกอดนอน ดังนั้นต้องพยายามหาเวลาพักผ่อนให้พอ ไม่อย่างงั้นจะเกิดอาการชักได้ง่าย
  • ขณะให้นมลูก ควรมีคนอื่นๆ อยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือได้ถ้ามีอาการชักเกิดขึ้นขณะให้นมลูก และต้องระวังอย่าให้ลูกหล่นพื้นถ้ามีอาการชักขณะให้นมลูก ดังนั้นต้องมีโต๊ะรองลูกขณะให้นมด้วยเสมอ
  • พบแพทย์สม่ำเสมอ ถ้าทานยากันชักก็ต้องทานสม่ำเสมอ อย่าหยุดยากันชักเองโดยเด็ดขาด

ผู้หญิงที่เป็นลมชักก็สามารถใช้ชีวิตครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ ได้ เพียงแค่การดูแลตนเองให้ดี ทานยากันชักสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย ต้องการตั้งครรภ์