ผู้ชายมีนม ผู้ชายมีเต้านม เต้านมโตในผู้ชาย หรือ ไกเนโคมาสเตีย (Gynecomastia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ชายมีนม หรือ ผู้ชายมีเต้านม หรือผู้ชายมีนม หรือผู้ชายมีหน้าอก หรือมีก้อนในเต้านมผู้ชาย หรือ การมีเต้านมในผู้ชาย หรือเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia, กัยเนโคมาสเตีย หรือ ไกเนโคมาสเตีย)ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อเต้านมผู้ชายมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จึงส่งผลให้มีลักษณะเหมือนเต้านมของผู้หญิงแต่ขนาดเล็กกว่า(นมตั้งเต้า) ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นการเจริญของท่อน้ำนม ไม่ใช่การเจริญของต่อมสร้างน้ำนม ดังนั้นภาวะนี้ในผู้ชาย โดยทั่วไปจึงผลิตน้ำนมไม่ได้ แต่บางครั้งการมีเต้านมในผู้ชายเกิดจากโรคอ้วน ซึ่งส่งผลให้มีไขมันจับในเต้านมมากขึ้น จึงดูเหมือนมีเต้านม ซึ่งเรียกภาวะที่เกิดจากไขมันจับในเต้านมนี้ว่า “ภาวะมีเต้านมเทียม หรือภาวะมีเต้านมหลอก หรือภาวะมีเต้านมไม่แท้ (Pseudogynecomastia)”

ผู้ชายมีเต้านม อาจเกิดได้ทั้งเป็นภาวะปกติตามธรรมชาติ (Physiologic gynecomastia) เช่น ในเด็กชายเมื่ออย่างเข้าสู่วัยรุ่น ที่เรียกว่า แตกพาน/นมแตกพาน หรือเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติ (Nonphysiologic gynecomastia) เช่น ในผู้ป่วยโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง หรือการกินฮอร์โมนเพศ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยา Bicalutamide เป็นต้น

ผู้ชายมีเต้านม อาจเกิดกับเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยทั้งสองข้างอาจมีขนาดเต้านมเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้ หรืออาจเกิดกับเต้านมข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว ซึ่งบางรายงานพบเกิดกับข้างซ้ายบ่อยกว่าข้างขวา แต่บางรายงานพบเกิดกับข้างขวาบ่อยกว่าข้างซ้าย ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งที่มาของข้อมูลที่แตกต่างกัน

 

ภาวะผู้ชายมีเต้านมมีสาเหตุเกิดได้อย่างไร?

ผู้ชายมีนม

สาเหตุของการเกิดเต้านมในผู้ชายยังไม่ชัดเจน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า อาจเกิดจาก ผลของฮอร์โมนเพศ คือ

  • เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชาย (เทสทอสเทอโรน/Testosterone หรือ แอนโดรเจน/ Androgen) กับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน/Estrogen)
  • อาจจากมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น
  • อาจจากเนื้อเยื่อเต้านมของผู้ชายนั้นๆไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ
  • อาจจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่นยา Bicalutamide
  • และบางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ ซึ่งประมาณ 25% ของผู้ชายที่เกิดมีเต้านม แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

อนึ่ง ผู้ชายปกติทุกคน ในร่างกายจะมีทั้งฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง แต่จะมีฮอร์โมนเพศชายในปริมาณสูงกว่าปริมาณเพศหญิงมาก ทั้งนี้ฮอร์โมนเพศทั้งสองชนิดนี้ของผู้ชายสร้างจากอัณฑะและจากต่อมหมวกไต นอกจากนั้นโดยธรรมชาติ ร่างกายยังมีกลไกที่แปลงฮอร์โมนเพศชายบางส่วนที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆให้เป็นฮอร์โมนเพศหญิงได้ ดังนั้นในบางภาวะทั้งที่ปกติตามธรรมชาติ และ ที่ผิดปกติ จึงอาจมีสมดุลของฮอร์โมนทั้งสองเพศผิดไป หรือเต้านมของคนๆนั้นเกิดการไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้นกว่าปกติ

สาเหตุหลักที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศดังกล่าว แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เป็นไปตามธรรมชาติ และที่เกิดจากโรคหรือจากภาวะผิดปกติ

ก. การเกิดมีเต้านมในผู้ชายจากภาวะปกติตามธรรมชาติ: พบได้ใน 3 ช่วงอายุคือ เมื่อแรกเกิด ในวัยรุ่น และในวัยกลางคนขึ้นไป

  • วัยแรกเกิด: ประมาณ 90% ของทารกเพศชายจะมีเต้านม เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากมารดา แต่ทั้งนี้เต้านมในวัยนี้จะค่อยๆยุบหายกลับเป็นปกติในอายุประมาณ 1 เดือนหลังคลอด หลังจากร่างกายทารกกำจัดฮอร์โมนเพศหญิงส่วนเกินออกจากร่างกายจนเหลืออยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • วัยรุ่น: เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น วัยรุ่นชายประมาณ 50% จะมีเต้านมได้ มักพบในช่วงอายุ 13-14 ปี เพราะช่วงนี้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น จึงมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเด็กชายที่มีเต้านม อาจเกิดจากปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้สมดุลของฮอร์โมนเพศจะปกติ หรืออาจจากเนื้อเยื่อเต้านมช่วงนี้ไว/ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ภาวะนี้จะค่อยๆหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี แต่บางครั้งอาจอยู่นานถึงปลายๆวัยรุ่น/วัยทีน (Teenage, 13-19 ปี)
  • วัยกลางคนขึ้นไป: คือประมาณอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายงานพบภาวะนี้ได้ประมาณ 65% ของชายวัย 50-80 ปี ทั้งนี้เกิดจากในวัยนี้ ร่างกายสร้างปริมาณฮอร์โมนเพศชายลดน้อยลง จึงส่งผลให้ดูเหมือนมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น ซึ่งการมีเต้านมในวัยสูงอายุนี้ มักคงอยู่ตลอดไป เพราะอวัยวะต่างๆ รวมทั้งอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย เสื่อมไปตามวัย ร่างกายจึงไม่กลับมาสร้างฮอร์โมนเพศชายมากเท่าวัยหนุ่มอีกแล้ว

ข.การเกิดมีเต้านมจากโรคหรือจากภาวะผิดปกติ: พบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ โดยสาเหตุมีได้หลากหลาย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้ คือ ผลข้างเคียงจากยาต่างๆ, จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ สารเสพติด, จากภาวะทางโภชนาการ, จากโรคเรื้อรังต่างๆ , จากโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง บางชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศได้, และอื่นๆ

  • ผลข้างเคียงจากยา: มียาหลากหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดเต้านมในผู้ชาย เช่น ยาฮอร์โมนต่างๆที่ใช้ในการรักษาโรค ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยาทางจิตเวชบางชนิด ยากันชักบางชนิด ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาฮอร์โมน/ยาต้านฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านม ยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ยาลดกรดในกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยาขยายหลอดลมบางชนิด ยาในกลุ่มที่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อในนักกีฬาหรือนักเพาะกาย (Anabolic hormone) และฮอร์โมนในพืช เช่น สมุนไพรที่มีฮอร์โมน เช่น โสมต่างๆ และยาพื้นบ้านต่างๆที่มีฮอร์โมน

อนึ่ง ถัวเหลืองซึ่งเป็นพืชที่มีฮอร์โมนพืชที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองในปริมาณปกติ ยังไม่มีรายงานว่า เป็นสาเหตุให้เกิดเต้านมในผู้ชาย แต่มีรายงานว่า ถ้ากินในปริมาณสูงมากๆต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุได้ เช่น มีรายงานเกิดเต้านมในผู้ป่วยชายซึ่งดื่มนมถั่วเหลืองถึงวันละมากกว่า 3 ลิตรอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 เดือน และเมื่อได้รับการรักษาด้วยการหยุดบริโภคนมถั่วเหลือง เต้านมก็ค่อยๆยุบลงและกลับเป็นปกติในที่สุด

  • จากแอลกอฮอล์ และสารเสพติด: พบว่าแอลกอฮอล์ และสารเสพติด เช่น กัญชา ยาบ้า/ยาม้า/ยาขยัน (Amphetamine) สารประกอบของฝิ่น และเฮโรอีน(Heroin) มีผลเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงส่งผลให้เป็นสาเหตุการมีเต้านมในผู้ชาย
  • จากภาวะทางโภชนาการ: ถ้าร่างกายขาดอาหาร เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ติดสุราเรื้อรัง ติดยา/สารเสพติด หรือจากการเจ็บป่วยต่างๆ จะส่งผลให้เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายขาดสารอาหาร การทำงานจึงลดลง ซึ่งรวมทั้งการทำงานของอัณฑะ จึงส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมีเต้านมได้ นอกจากนั้นในผู้ชายที่ขาดอาหารและไม่ได้เกิดมีเต้านม แต่ถ้าภายหลังร่างกายฟื้นตัวจากกลับมาได้อาหารปกติ อาจเกิดมีเต้านมในระยะหนึ่งได้ เนื่องจากมีการฟื้นตัวของเซลล์อัณฑะเช่นกัน จึงกลับมาสร้างฮอร์โมนเพศใหม่ ส่งผลให้มีฮอร์โมนหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอาจเกิดมีเต้านมขึ้นในระยะต้นๆของการฟื้นตัว
  • จากโรคเรื้อรังต่างๆ: ที่ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศ เช่น โรคตับแข็ง (ตับเป็นตัวทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงสลายตัว เมื่อตับทำงานลดลง ฮอร์โมนเพศหญิงจึงเพิ่มขึ้น จึงเกิดมีเต้านมได้), โรคไตเรื้อรัง (ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงเหมือนเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง), โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ไทรอยด์ฮอร์โมน จะการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น), โรคของไขสันหลั่ง(จะส่งผลให้อัณฑะฝ่อลง จึงลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย), และโรคเอดส์ (เกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายเสื่อมโทรม อัณฑะจึงทำงานลดลง และ/หรือผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส และ/หรือปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน)
  • จากเนื้องอก หรือมะเร็ง: ซึ่งเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น เนื้องอก หรือมะเร็งอัณฑะ บางชนิด, เนื้องอกต่อมใต้สมองบางชนิด, หรือมะเร็งปอด บางชนิด เป็นต้น
  • อื่นๆ: เช่น จากพันธุกรรม ทั้งจากการมีประวัติผู้ชายในครอบครัวมีภาวะนี้ หรือโรคทางพันธุกรรมบางโรคที่ส่งผลให้อัณฑะทำงานลดลง (เช่น โรค Klinefelter syndrome, โรคที่มี X chromosome/ โครโมโซม เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ชายปกติจะมี XY chromosome แต่โรคนี้จะมี XXY chromosome คือมีความเป็นเพศหญิงอยู่ในตัว) หรือจากปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด เพราะจะส่งผลถึงการทำงานของสมองส่วนที่สร้างฮอร์โมนต่างๆซึ่งรวมทั้งฮอร์โมนเพศ จึงก่อให้สมดุลของฮอร์โมนเพศผิดปกติไป

มีอาการอื่นร่วมกับการมีเต้านมไหม?

การมีเต้านมในผู้ชาย ส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงเต้านมใหญ่ขึ้น ส่งผลถึงการรู้สึกอับอาย แต่บางครั้งในช่วงที่มีการเจริญเติบโตสูงของเซลล์เต้านม อาจก่อให้เกิด อาการเจ็บที่เต้านมได้ ซึ่งอาการมักหายไปเอง เมื่อเต้านมโตคงที่แล้ว

นอกจากนั้น บางครั้ง (พบได้น้อยมากๆ) อาจคลำพบก้อนเนื้อได้ ซึ่งอาจเป็นก้อนเนื้องอก หรือก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมของผู้ชาย โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากภาวะของการมีเต้านม แต่เป็นสาเหตุของเนื้องอก หรือของมะเร็งเอง และจากการมีก้อน จึงทำให้คิดว่า เกิดจากภาวะมีเต้านม ดังนั้น เมื่อมีเต้านมและคลำได้ก้อนเนื้อ เป็นตัวบ่งชี้ว่า ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ได้เกิดจากมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม มะเร็งเต้านมในผู้ชาย พบได้น้อยมากๆ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุผู้ชายมีเต้านมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะผู้ชายมีเต้านมได้จาก ประวัติอาการ อายุ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โรคประจำตัวต่างๆ ยาต่างๆที่ใช้อยู่หรือเพิ่งหยุดไป สมุนไพร ยาพื้นบ้าน พันธุกรรม การตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนต่างๆ การตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม (Mammogram) และบางกรณีเมื่อสงสัยมะเร็งเต้านม จะมีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนในเต้านม เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วย เป็นต้น

 

รักษาภาวะผู้ชายมีเต้านมได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะผู้ชายมีเต้านม คือ การรักษาตามสาเหตุ โดยทั่วไปอาการที่เป็นจากธรรมชาติตามอายุ มักไม่มีการรักษา โดยเฉพาะในเด็กอ่อน และในวัยรุ่น แต่ในผู้สูงอายุ หรือในวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านจิตใจกับภาวะนี้ แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยา เช่น ยาฮอร์โมนเพศชาย หรือยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง หรือในบางราย อาจพิจารณาผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ส่วนใน ภาวะมีเต้านมที่เกิดจากโรค เมื่อรักษาควบคุมโรคได้ ภาวะมีเต้านมก็จะค่อยๆกลับเป็นปกติ เช่น การรักษาโรคตับแข็ง การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ การเลิกกินอาหารหรือสมุนไพรที่เป็นสาเหตุ เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับในกรณีของการเกิดภาวะนี้ตามธรรมชาติ ถ้าภาวะนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีเช่นเดียวกับการรักษาภาวะนี้ที่เกิดตามธรรมชาติ ดังได้กล่าวแล้ว

แต่ถ้ารักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ การมีเต้านมก็จะยังคงอยู่โดยไม่ก่ออาการอื่น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ผู้ป่วยเพียงแต่คอยสังเกตเต้านมของตนเอง เมื่อพบผิดปกติไปจากเดิม เช่น คลำได้ก้อนชัดเจน เต้านมโตขึ้นรวดเร็วเพียงข้างเดียว หรือมีเลือดออกทางหัวนม ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งเต้านมได้

อนึ่ง เมื่ออาการเกิดจากเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาจะเช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ของผู้หญิง

ภาวะผู้ชายมีเต้านมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป ภาวะผู้ชายมีเต้านมเป็นภาวะไม่รุนแรง มักหายไปเองเมื่อผ่านวัยต่างๆ หรือได้รับการดูแลรักษาสาเหตุ และภาวะนี้ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่โรคมะเร็งเต้านม ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ชายบางคน อาจมีปัญหาในภาพลักษณ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูตนเองเมื่อมีภาวะเต้านม เมื่อเกิดในช่วงวัยตามธรรมชาติ คือ ความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของภาวะนี้ แต่เมื่อกังวล ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แต่ถ้าเกิดภาวะมีเต้านม ซึ่งไม่ได้เกิดตามวัย/ตามธรรมชาติ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อแยกจากโรคมะเร็งเต้านม ถึงแม้โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายจะน้อยมากก็ตาม แต่ก็เป็นโรครุนแรง ที่สมควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะให้ผลการรักษาและการควบคุมโรคได้ดีกว่า

เมื่อมีอาการเจ็บเต้านมร่วมด้วย อาการมักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และช่วงที่เจ็บสามารถกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol)ได้

อนึ่ง นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว การดูแลตนเอง การใช้ชีวิตประจำวัน เหมือนปกติทุกอย่าง

ป้องกันภาวะผู้ชายมีเต้านมอย่างไร?

ภาวะผู้ชายมีเต้านมที่เกิดในวัยตามธรรมชาติ ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ

ภาวะผู้ชายมีเต้านมที่เกิดจากโรค หรือจากสาเหตุอื่นๆ การป้องกันคือ การ ป้องกันสาเหตุ ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่

  • ไม่ดื่มสุรา ป้องกันการเกิดโรคตับแข็ง
  • ป้องกันโรคต่างๆที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ไม่กิน สมุนไพร โดยไม่รู้ว่าผลข้างเคียงคืออะไร
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ลดโอกาสใช้ยาต่างๆ และสารเสพติดต่างๆ ที่อาจมีผลข้างเคียงให้เกิดภาวะนี้ได้
  • ควบคุมอาหาร จำกัดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน เพิ่มผัก ผลไม้ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อป้องกัน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพื่อป้องกันภาวะมีเต้านมไม่แท้/หลอก ที่เกิดจากไขมันสะสมจับในเต้านม

 

บรรณานุกรม

  1. Bembo, S., and Carlson, H. (2004). Gynecomastia: its features, and when and how to treat it. Cleaveland Clinic Journal of Medicine. 71, 511-517.
  2. Braunstein, G. (2007). Gynecomastia. N Engl J Med. 357, 1229-1237.
  3. Dickson G. (2012). Gynecomastia. Am Fam Physician. 85, 716-722.
  4. Martinez, J., and Lewi, J. (2008). An unusual case of gynecomastia associated with soy product consumption. Endocr Pract. 14, 415-418. [PubMed]
  5. http://pediatrics.aappublications.org/content/105/4/e55.full [2017,Feb4]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Gynecomastia [2017,Feb4]
  7. http://emedicine.medscape.com/article/120858-overview#showall [2017,Feb4]
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10742376 [2017,Feb4]