ผลุบๆ โผล่ๆ ของโปลิโอ (ตอนที่ 2)

นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เชื้อไวรัสโปลิโอ ทำให้มีการอักเสบของไขสันหลังและเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้พิการตลอดชีวิต และบางรายอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินมาตรการสำคัญเพื่อควบคุมป้องกันโรคโปลิโอ

นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ก็คือการเร่งรัดระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนโปลิโอในเด็กกลุ่มเป้าหมายอายุ ต่ำกว่า 5 ปี พร้อมกับรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงเป็นประจำทุกปี เร่งรัดพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับการดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคโดยเร็ว

ร้อยละ 90 - 95 ของผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอจะไม่ปรากฏอาการของโรค แต่เป็นพาหะของโรค ประมาณร้อยละ 4 - 8 ของผู้ที่ติดเชื้อ จะเป็นกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) ที่ไม่กระทบกับระบบประสาทส่วนกลาง หรือ ซีเอ็นเอส (CNS = Central nervous system) และสามารถฟื้นตัวได้ภายใน 1 สัปดาห์

อาการหลักที่พบโดยทั่วไปจะมี 3 อาการ คือ มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เจ็บคอและเป็นไข้) มีอาการรบกวนในระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดในช่องท้อง ท้องผูก หรืออาจท้องเสีย) และมีอาการคล้ายคนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

ประมาณร้อยละ 1 - 2 ของผู้ที่ติดเชื้อ จะเป็นกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) โดยภายหลังจากการมีอาการเหมือนกลุ่ม Abortive poliomyelitis แล้ว ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเมื่อยต้นคอ ปวดหลังและปวดขา เพิ่มขึ้น อาการในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะหายเป็นปกติด้วยภายใน 2 - 10 วัน

ประมาณร้อยละ 0.1 - 0.5 ของผู้ที่ติดเชื้อ จะเป็นกลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) โดยเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่ม Nonparalytic poliomyelitis หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายวัน จะเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกายอย่างรุนแรง และตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที

ในผู้ป่วยบางราย อาการของ Nonparalytic poliomyelitis จะหายสนิทก่อน หลังจากนั้น 1-2 วัน อาการไข้ก็จะกลับมาอีก และตามด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีอาการ Paralytic poliomyelitis หลายคนสามารถฟื้นตัวได้ แต่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออาการอัมพาตที่เป็นมาแล้ว 12 เดือนมักจะคงอยู่ตลอดไป

Paralytic poliomyelitis แบ่งตามตำแหน่งที่เป็นได้ 3 ประเภท คือ (1) โปลิโอไขสันหลัง (Spinal polio) (2) โปลิโอก้านสมองส่วนท้าย (Bulbar polio) และ (3) โปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้าย (Bulbospinal polio)

ร้อยละ 25–40 ของผู้ที่เป็นโรคโปลิโอกลุ่ม Paralytic poliomyelitis มาแล้ว 30 – 40 ปี มักกลับมาประสบปัญหาในการปวดกล้ามเนื้อและมีอาการกำเริบของการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตอีกครั้ง ซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโปลิโอ (Postpolio Syndrome) โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการเหล่านี้รวมถึง ระยะเวลาในติดเชื้อโปลิโอ ความบกพร่องที่เหลืออยู่หลังจากที่หายป่วย และการมีเพศเป็นหญิง

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.กาญจน์รณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ปี55 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000127622&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 3].
  2. Poliomyelitis. http://en.wikipedia.org/wiki/Polio [2012, November 3].
  3. Poliomyelitis. http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/polio.pdf [2012, November 3].