ผลข้างเคียงของการฉายรังสีต่อระบบประสาท (Effects of CNS Radiation therapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดีมากขึ้น เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี/รังสีรักษา หรือการผ่าตัดที่มีความปลอดภัย ผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสหายได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาทุกอย่างก็มีผลไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นด้วย เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียนหลังได้ยาเคมีบำบัด หรืออาการปวดศีรษะ อาเจียน ซึมลงหลังจากได้รับการฉายแสงบริเวณสมอง อาการเหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และอันตรายหรือไม่ ต้องติดตามจากบทความนี้

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาทคืออะไร?

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีต่อระบบประสาท

ผล หรือผลข้างเคียงจากการฉายรังสี คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็งบริเวณสมอง และเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ติดกับระบบประสาท เช่น โพรงหลังจมูก หรือกระดูกสันหลัง และผลของรังสีนั้นทำให้มีความผิดปกติเกิดขึ้นต่อระบบประ สาท เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน อาการอ่อนแรง ซึมลง และ/หรือชัก เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาทเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาท เกิดจาก 3 กลไกหลัก คือ

  • ผลของรังสีต่อเนื้อเยื่อต่างๆของระบบประสาทโดยตรง ในส่วนของอวัยวะที่มีการฉายรังสี หรือได้รับรังสีดังกล่าว เช่น สมอง ไขสันหลัง เป็นต้น
  • ผลจากรังสีที่มีผลต่อหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง และ/หรือต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) เช่น ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ต่อมไทรอยด์ ซึ่งการทำงานของต่อมไร้ท่อเหล่า นี้ มีผลต่อระบบการทำงานของระบบประสาท
  • ผลจากรังสีที่มีผลต่อโรคมะเร็งโดยตรง เช่น ก้อนเนื้องอก ทำให้ก้อนเนื้องอกมีอาการบวมโตขึ้น จึงอาจกดเบียดเนื้อสมองหรือไขสันหลังปกติได้

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาทก่อให้เกิดโรคที่ส่วนใดบ้าง?

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับบริเวณที่ฉายรังสี ทั้งนี้ระบบประสาทที่มีโอกาสได้รับผลกระทบบ่อยๆ คือ ก. สมอง, ข. ไขสันหลัง, ค. เส้นประสาทสมอง, ง. เส้นประสาท

สมอง:

อาการที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีที่สมอง ที่อาจพบได้ ได้แก่

  • สมองบวม ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม
  • แขนขาอ่อนแรงจากสมองบวม
  • ชัก
  • สับสน
  • สมองฝ่อ สมองเสื่อม (อาการในระยะยาว)

ไขสันหลัง:

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีต่อไขสันหลัง อาการที่อาจพบได้ ได้แก่

  • อาการปวดร้าวเหมือนไฟช็อตจากคอไปที่หลัง ถึงก้น และ/หรือ ถึงแขน ขา เวลาก้มคอ (Lhermitte’s sign)
  • อาการชา ตามปลายมือ ปลายเท้า
  • อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขา
  • อาการปัสสาวะ อุจจาระ ลำบาก

เส้นประสาทสมอง:

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีต่อเส้นประสาทสมอง จะขึ้นกับการฉายรังสีครอบคลุมประ สาทสมองเส้นใด อาการที่อาจพบได้ ได้แก่

  • การดมกลิ่นเสียไป ถ้าฉายรังสีครอบคลุมประสาทสมองเส้นที่ 1
  • การมองเห็นผิดปกติ ตาแห้ง ต้อกระจก ต้อหิน ประสาทตาเสื่อม ถ้าฉายรังสีครอบคลุมตา/ประสาทสมองเส้นที่ 2
  • การได้ยินลดลง เสียการทรงตัว ถ้าฉายรังสีครอบคลุมประสาทสมองเส้นที่ 8 (ประสาทหู)
  • การเคี้ยว การกลืนลำบาก การรับรสเปลี่ยนไป ถ้าฉายรังสีครอบคลุมประสาทสมองเส้นที่ 9,10

เส้นประสาท:

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีต่อเส้นประสาท อาการที่อาจพบได้ ได้แก่

  • อาการชาของแขน ขา
  • อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน ขา

ปัจจัยใดที่มีผลต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาท?

ปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาท ได้แก่

  • ชนิดของโรคมะเร็ง
  • ขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง
  • ปริมาณของรังสีที่ได้รับแต่ละครั้ง และปริมาณรังสีที่ได้รับทั้งหมดตลอดการรักษา
  • บริเวณของระบบประสาทที่ได้รับรังสี
  • โรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

อาการต่างๆจะเกิดขึ้นเมื่อใด?

การเกิดผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการฉายรังสีต่อระบบประสาทนั้น เกิดขึ้นได้เป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะเริ่มของการฉายรังสี เป็นนาที หรือ เป็นวัน คือ เป็นทันที หรือเป็นวันหลังฉายรังสี เช่น สมองบวม ความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง
  • ระยะปานกลาง เป็นสัปดาห์หลังการเริ่มฉายรังสี มักเกิดจากเซลล์ประสาทที่มีการอัก เสบ หรือตายเกิดขึ้น
  • ระยะยาว เป็นเดือนถึงปี เช่น ภาวะสมองฝ่อ สมองเสื่อม

แพทย์ให้การวินิจฉัยอาการต่างๆว่าเกิดจากผลของการฉายรังสีได้อย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยว่า อาการผิดปกติทางระบบประสาทเกิดจากผลของรังสี โดย

  • พิจารณาจากประวัติที่ได้รับการฉายรังสี และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
  • ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ สมองหรือไขสันหลัง กรณีสงสัยว่ามีผลข้างเคียงที่สมองหรือไขสันหลัง
  • และตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ กรณีสงสัยความผิดปกติของเส้นประสาท เพื่อแยกว่าความผิดปกติไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อ

อาการผิดปกติต่างๆรักษาอย่างไร?

การรักษาผลข้างเคียงจากรังสีรักษาต่อระบบประสาท ขึ้นกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะสมองบวม ให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ หรือถ้าบวมมาก จนมีการกดเบียดกดสมอง ก็อาจต้องผ่าตัดสมอง เป็นต้น

ถ้าผลข้างเคียงเกิดกับต่อมไร้ท่อ การรักษา คือ การให้ฮอร์โมนรักษาภาวะต่อมไร้ท่อทำ งานผิดปกติ ซึ่งก็ตอบสนองต่อการรักษาดี

อย่างไรก็ตาม การรักษาผลข้างเคียงฯ ส่วนใหญ่คือ การรักษาประคับประคองตามอาการของผลข้างเคียงนั้นๆ เช่น การให้ยารักษาสมองเสื่อม เป็นต้น

อาการผิดปกติต่างๆมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาท ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และของรอยโรคในระบบประสาท บางครั้งอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น สมองบวมมากในช่วงแรก แต่ถ้าในระยะยาวมักไม่รุนแรง แต่ไม่หายขาด เช่น สมองฝ่อ สมองเสื่อม

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการผิดปกติเหล่านี้?

การดูแลตนเองเมื่อมีผลข้างเคียงจากการฉายรังสีต่อระบบประสาท ได้แก่

  • ระยะเริ่มฉายรังสี: การดูแลตนเองในช่วงนี้คือ การนอนรักษาในโรงพยาบาล คือ ต้องป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล การพยายามเคลื่อนไหว ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย การสังเกตอาการว่ามีภาวะสมองบวม (อ่านได้จากบทความเรื่อง สมองบวม) หรืออาการผิดปกติอื่นหรือไม่ ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว ญาติที่เฝ้าผู้ป่วย ต้องหมั่นพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะสับสนฉับพลัน และสังเกตอาการต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแจ้งแพทย์ พยาบาล
  • ระยะกลาง: การดูแลส่วนใหญ่ ผู้ป่วยอาจจะออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว หรือช่วงหลังของการรักษาในโรงพยาบาล
    • กรณีที่ยังพักรักษาในโรงพยาบาล ก็ให้การดูแลเหมือนช่วงแรกๆ คือ ต้องกระตุ้นให้มีกิจ กรรม พยายามพูดคุย เคลื่อนไหว เดินออกกำลังกาย ระวังการติดเชื้อ
    • กรณีกลับบ้านแล้ว สิ่งสำคัญคือ การสังเกตว่ามีอาการผิดปกติอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้าง ถ้าสงสัยว่าผิดปกติก็ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ระยะยาว: การดูแลระยะยาวมักเป็นปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ สมองฝ่อหรือเหี่ยว ไขสันหลังฝ่อ ดังนั้น สิ่งที่ต้องดูแลคือ
    • อาการผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ได้แก่ อาการของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) เช่น อ่อนเพลีย เชื่อง ช้า ซึม ท้องผูก ขี้หนาว คลื่นไส้อาเจียน นอนตลอดเวลา ความจำไม่ดี หรือมีภาวะสับสน ถ้าพบอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
    • และเพื่อเป็นการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ก็ควรฝึกสมอง/ออกกำลังสมองให้มากยิ่งขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ และไม่ควรอยู่บ้านเฉยๆ

สรุป

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ถ้าเจ็บป่วยแล้ว ใจต้องเข้มแข็ง เราควรแค่เจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่ใจต้องเข็งแรง