ผมจ๋า อย่าทิ้งกัน! (ตอนที่ 2)

การหลุดร่วงของเส้นผม (Alopecia/Hair loss) มีหลายชนิด กล่าวคือ

  • ผมร่วงตามความเสื่อม (Involutional alopecia) เป็นภาวะผมร่วงที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งผมจะค่อยๆ บางเมื่ออายุมากขึ้นๆ มีเซลล์รากผมหลายแห่งที่อยู่ในระยะหยุดเจริญเติบโต จึงทำให้ผมสั้นและมีจำนวนน้อยลง
  • ผมร่วงที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (Androgenic alopecia) เกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้ชายจะมีลักษณะหัวล้านที่เรียกว่า Male pattern baldness โดยเริ่มมีผมร่วงเมื่อตอนวัยรุ่นหรืออายุ 20 ต้นๆ โดยมีลักษณะเส้นผมที่น้อยลงและค่อยๆ หายไปจากกระหม่อมและหนังศีรษะด้านหน้า ส่วนผู้หญิงจะมีลักษณะหัวล้านที่เรียกว่า Female pattern baldness ซึ่งจะไม่เห็นว่าผมบางลงจนกว่าจะอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยมีลักษณะผมบางทั้งศีรษะและบางมากโดยเฉพาะบริเวณกระหม่อมศีรษะ
  • อาการผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) มักเกิดขึ้นทันทีทันใดและร่วงเป็นหย่อมในเด็กและผู้ใหญ่วัยต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหัวล้านทั้งศีรษะ (Alopecia totalis) ได้ อย่างไรก็ดีร้อยละ 90 ของคนที่มีอาการนี้ ผมจะงอกใหม่ภายใน 2 - 3 ปี
  • ผมร่วงทั้งตัว (Alopecia universalis) เป็นสาเหตุให้ขนทั้งตัวร่วงหมด รวมถึงขนคิ้ว ขนตา และขนตามตัว
  • โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) พบมากในเด็ก เป็นความผิดปกติทางจิตที่ชอบดึงผมตัวเอง
  • ผมระยะหยุดพักร่วง (Telogen effluvium) เป็นระยะผมบางชั่วคราว ที่เกิดเพราะมีการเปลี่ยนแปลงในวงจรการงอกของเส้นผม โดยผมเป็นจำนวนมากจะอยู่ในระยะหยุดเจริญเติบโตพร้อมกัน ทำให้ผมร่วงและดูผมเบาบาง

ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมวงจรการงอกของเส้นผมจึงสั้นกว่าปกติ อย่างไรก็ดีมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้ผมร่วงได้ คือ

  • ฮอร์โมน – เป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ซึ่งเกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
  • พันธุกรรม (Genes) – พันธุกรรมของทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ทำให้มีความโน้มเอียงที่จะทำให้มีการหลุดร่วงของเส้นผม (Male or female pattern baldness)
  • ความเครียด ความเจ็บป่วย และการให้กำเนิดทารก - สามารถทำให้ผมร่วงชั่วคราวได้ นอกจากนี้ขี้กลากที่เกิดจากเชื้อราก็อาจเป็นสาเหตุให้ผมร่วงได้
  • ยา – ทั้งยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Blood thinners) ยากีดกันเบต้า (Beta-adrenergic blockers = BB) ที่ใช้ควบคุมความดันโลหิต และยาคุมกำเนิด ล้วนสามารถทำให้ผมร่วงชั่วคราว
  • แผลไฟไหม้ การได้รับบาดเจ็บ และการเอกซเรย์ – สามารถทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว การเติบโตของผมจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหลังจากที่ได้รับการรักษาให้หาย
  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง/โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) - สามารถทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ได้
  • สารเคมีต่างๆ – เช่น แชมพู การดัดผม การโกรกผม การย้อมผม สามารถทำให้เส้นผมอ่อนแอเปราะบางลง การถักเปียที่ตึงแน่น การใช้ที่ม้วนผม สามารถทำลายและทำให้ผมแตกหักได้ จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุให้ศีรษะล้านโดยทีเดียว ในหลายกรณีเส้นผมจะกลับมาเป็นเหมือนปกติหากสาเหตุของปัญหาได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ดีหากมีการทำร้ายผมหรือหนังศีรษะอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ศีรษะล้านแบบถาวรได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Understanding Hair Loss -- the Basics. - http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/understanding-hair-loss-basics [2013, May 20].