ปิ้งย่างระวังมะเร็ง (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ปิ้งย่างระวังมะเร็ง-2

PAHs เป็นสารมลพิษที่ตกค้างได้ยาวนาน (Persistent organic pollutants = POPs) ไม่ละลายน้ำ ซึ่งร่างกายสามารถรับสารพิษนี้ได้จาก

  • การสูดดมจากมลภาวะในอากาศ เช่น การเผาไม้ ท่อไอเสีย
  • การกินอาหารที่ปนเปื้อนสาร
  • การดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสาร
  • การสัมผัสกับดินใกล้แหล่งที่มีการเผาไหม้ถ่าน ไม้ น้ำมัน ขยะ ฯลฯ
  • การสูบบุหรี่

ในที่ทำงาน เราสามารถรับสารนี้หากต้องทำงานในโรงงานผลิตน้ำมันดิน (Coal tar) อลูมิเนียม ยางมะตอย โรงหล่อ ร้านซ่อมเครื่องยนต์ เตาเผาขยะ เหมือง โรงกลั่นน้ำมันหรือแก๊ส โรงงานผลิตเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตสารเคมี เป็นต้น

หรือแม้แต่ที่บ้าน เราก็สามารถรับสารนี้จากการสูดควันบุหรี่ การเผาไม้ การกินของปิ้งย่าง การกินอาหารหรือดื่มน้ำหรือนมที่ปนเปื้อน การใช้ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ การใช้ยาที่ทำจาก PAHs

เมื่อได้รับสาร PAHs เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะทำปฏิกิริยาทางชีวเคมี (Metabolites) แล้วขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่หากเราได้รับสาร PAHs ในปริมาณที่มากก็อาจส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้

  • ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ
  • เคืองตา
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เลือดและตับผิดปกติ
  • ชัก (Convulsions)
  • หมดสติ (Unconsciousness)

นอกจากนี้ PAHs ยังอาจเป็น

  • สารก่อมะเร็ง (Carcinogenicity)
  • เป็นพิษต่อทารกในครรภ์ (Teratogenicity) ทำให้ทารกหรือตัวอ่อนในครรภ์มารดามีความผิดปกติ
  • มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สารพันธุกรรม (Genotoxicity)
  • เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Immunotoxicity) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยลง

แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยง PAHs ได้ทั้งหมด แต่เราสามารถลดการสัมผัสกับ PAHs ได้โดย

  • มีระบบการกรองของเสียก่อนปล่อยออกจากโรงงาน
  • ลดการบริโภคอาหารปิ้งย่าง
  • เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง (Second hand smoke)
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีมลภาวะ เช่น ควันรถ ควันโรงงาน
  • ใช้ยาที่มีส่วนผสมของ PAHs เท่าที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน แชมพูขจัดรังแค

แหล่งข้อมูล:

  1. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs). https://toxtown.nlm.nih.gov/text_version/chemicals.php?id=80 [2017, September 3].
  2. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs). https://www.epa.gov/sites/production/files/2014-03/documents/pahs_factsheet_cdc_2013.pdf [2017, September 3].
  3. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons. http://www.toxipedia.org/display/toxipedia/Polycyclic+Aromatic+Hydrocarbons [2017, September 3].
  4. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs). https://www.dhs.wisconsin.gov/chemical/pah.htm [2017, September 3].