ปิ้งย่างระวังมะเร็ง (ตอนที่ 1)

ปิ้งย่างระวังมะเร็ง-1

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาหารที่ขายตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่ จะเป็นประเภท อาหารทอด ปิ้งย่าง น้ำหวาน น้ำแข็งใส ขนมกรุบกรอบ หรืออาหารกล่องต่างๆ หากมีการเตรียม ปรุง ประกอบที่ไม่สะอาดและถูกสุขลักษณะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยอาหารที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงของโรคที่ต่างกัน อาทิ อาหารประเภททอด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก เกี๊ยว เฟรนฟรายซ์ จะเสี่ยงอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ

อาหารปิ้งย่าง เช่น หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง บาร์บีคิว จะเสี่ยงอันตรายจากกลุ่มควันที่มีสารพิษ PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) หากสะสมในร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

ส่วนน้ำแข็งใส น้ำตาลปั้น ขนมหวาน เช่น ลูกชุบ ลูกกวาด ไอศกรีมแท่ง ผลไม้ดอง น้ำหวานที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้เสี่ยงอันตรายจากสีผสมอาหาร หรือความสะอาดของน้ำแข็ง

ส่วนขนมกรุบกรอบ มีของแถมดึงดูดความสนใจ ส่วนใหญ่มีส่วนผสมแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ หากบริโภคมากบ่อยๆ และขาดการออกกำลังกายจะเสี่ยงกับโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

สำหรับที่อาหารกล่องที่บรรจุโฟม หากนำมาใช้กับอาหารร้อนหรืออาหารทอด ก็มีผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นพ.ดนัย ได้แนะนำถึงการเลือกซื้ออาหารให้ปลอดภัยว่า ควรเลือกซื้ออาหารปรุงสุกใหม่ เลี่ยงอาหารที่ไหม้เกรียม เลือกซื้ออาหารที่ไม่บรรจุในกล่องโฟม สังเกตผู้ปรุง ผู้จำหน่ายอาหาร ควรสวมผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผม

อาหารที่จำหน่ายต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือสัมผัส เพราะสามารถปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ ได้ ทั้งจากการสัมผัสจากมือผู้ขาย ฝุ่นละออง หรือจากแมลงวัน ที่นำเชื้อโรคมาสู่ผู้บริโภคได้ทั้งนั้น

สำหรับโรงเรียนควรมีการสร้างความตระหนักแก่นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อจะได้เลือกซื้ออาหารที่สะอาดและปลอดภัย นอกจากนี้หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุข ควรร่วมกันควบคุมความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายหน้าโรงเรียน ทั้งด้านความสะอาดของสถานที่จำหน่าย การอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการค้าอาหาร การแต่งกาย สุขลักษณะการปฏิบัติตนในการเตรียม ปรุงและจำหน่ายอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

PAHs หรือ พอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons = PAHs / Polynuclear aromatic hydrocarbons) เป็นกลุ่มควันที่มีสารเคมีมากกว่า 100 ชนิด ที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ของ ถ่านหิน น้ำมัน ขยะ ยาสูบ ไม้ หรือสารอินทรีย์ เช่น การปิ้งย่างเนื้อ (Charcoal-broiled meat)

กลุ่มควันนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติเมื่อมีการเผาป่า การประทุของภูเขาไฟ หรือสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาทางการเกษตร การเคลือบท่อ การผลิตเหล็ก การปูพื้นด้วยยางมะตอย การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดินที่ทำมาจากถ่านหิน (Coal tar products) เช่น ยาฆ่าแมลง (Insecticides) สารกำจัดเชื้อรา (Fungicides) ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (Pesticides) ยารักษาเนื้อไม้ (Wood preservation) ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. อาหาร-ขนมหน้า ร.ร.หลายอย่าง เสี่ยงสารพัดโรค แนะวิธีเลือกซื้ออย่างปลอดภัย. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000074584 [2017, September 2].
  2. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs). https://toxtown.nlm.nih.gov/text_version/chemicals.php?id=80 [2017, September 2].