ปากแหว่งเพดานโหว่...จากโบว์ดำเป็นโบว์แดง (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆ นี้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลมิตรภาพ-สามัคคี จัดงานวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2555 และพิธีเปิดกระปุกออมเงิน “โครงการวันละเหรียญ เพื่อผู้ป่วย ปากแหว่งเพดานโหว่” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จย่า ผู้ซึ่งทรงห่วงใยในปัญหาทางทันตสุขภาพ ของพสกนิกรชาวไทย

รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี (ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน) เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” สำหรับในปีนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงานขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่ง บังเอิญตรงกับวันอาทิตย์ จึงมีความสะดวกในการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง

โรคปากแหว่ง (Cleft lip) และโรคเพดานโหว่ (Cleft palate) หรือที่มักเกิดด้วยกัน เรียกว่า “โรคปากแหว่ง-เพดานโหว่” เป็นรอยแหว่งที่พิการมาแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากการพัฒนาทางผิวหน้าที่ผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ของแม่ รอยแหว่งดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนการคลอดโดยเกิดตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างตามธรรมาชาติของร่างกาย

โรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับเด็ก 1 คนในทุกๆ 700 คน โรคปากแหว่งนั้น สมัยก่อนเรียกกันว่า Harelip เพราะมีลักษณะคล้ายรอยแหว่ง ในปากของกระต่ายป่า (Hare) แต่สมัยนี้ถือว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสม โรคปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถได้รับ การรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะหากผ่าตัดทันทีหลังคลอดหรือตั้งแต่ช่วงวัยเด็กเล็ก

ถ้ารอยแหว่งยังไม่ลามไปถึงเพดานปาก จะเรียกว่าเป็นโรคปากแหว่ง รอยแหว่งมักก่อตัวอยู่เหนือริมฝีปาก อาจเป็น รอยโหว่หรือรอยบุ๋มลงไปก็ได้ หรืออาจลามไปถึงจมูก รอยแหว่งอาจเกิดขึ้นด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน เกิดขึ้นจากความล้มเหลว ในการประสานตัวกันของขากรรไกรบนกับระบบจมูกส่วนกลาง

ส่วนโรคเพดานโหว่ (Cleft palate) คือลักษณะที่แผ่นของกระดูกสองแผ่น ซึ่งก่อตัวเป็นเพดานปากนั้นประสานกัน ไม่ สมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการของโรคปากแหว่งร่วมด้วย เช่นเดียวกับโรคปากแหว่ง โรคเพดานโหว่เกิดขึ้นกับ เด็กแรก เกิด 1 คนในทุกๆ 700 คนทั่วโลก

โรคเพดานโหว่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งลักษณะสมบูรณ์ (เกิดกับทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง อาจรวมถึงรอยโหว่ในขา กรรไกร ด้วย) หรือไม่สมบูรณ์ (การมีรูในเพดานปาก ส่วนใหญ่มักเป็นรอยโหว่ในเพดานอ่อน) เมื่อเกิดโรคเพดานโหว่ ลิ้นไก่มัก แยกออกจากกัน โรคเพดานโหว่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวในการรวมตัวกันของกระบวนการสร้างเพดาน และ/หรือ ผนังกลาง จมูก รูโหว่ในเพดานปากนั้นเชื่อมปากเข้ากับโพรงจมูกโดยตรง

ผลของช่องว่างที่เชื่อมโพรงปากและจมูกเข้าด้วยกันนั้นเรียกว่า VeloPharyngeal Inadequacy (VPI) เป็นเพราะ ช่องว่างดังกล่าว อากาศจึงรั่วเข้าไปในโพรงจมูก ซึ่งทำให้เกิดเสียงสะท้อนขึ้นจมูก และการมีน้ำมูกออกมาขณะพูด ผลกระทบ ที่รองลงมาของ VPI ก็คือ ปัญหาการออกเสียง (เช่น มีเสียงจากช่องว่างระหว่างเส้นเสียง และเสียงเสียดแทรกจากด้าน หลังจมูก) ในการเปล่งเสียง และ/หรือ ในการอ่านออกเสียงผิด

การรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่มีหลายวิธี และสามารถทำกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงโตแบบนี้นี่เอง โครงการเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สมเด็จย่าจึงเห็นความสำคัญ และสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านนี้อย่างเต็มที่

แหล่งข้อมูล:

  1. ทันตะ ม.อ. น้อมรำลึกสมเด็จย่า จัดงานวันทันตสาธารณสุข-ช่วยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ - http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000128279&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, October 28].
  2. Cleft lip and palate. http://en.wikipedia.org/wiki/Cleft_lip_and_palate [2012, October 28].