ปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณ “โรคชำรั่ว” มาเยือน (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

การจดเวลาถ่ายปัสสาวะและการฝึกหัดให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดและควบคุมการขับถ่าย (Bladder training) ก็เป็นวิธีของ Biofeedback ในการจดเวลาถ่ายปัสสาวะ ผู้ป่วยจะเขียนตารางการถ่ายปัสสาวะและการรั่วไหลของปัสสาวะ จากข้อมูลที่ปรากฏบนตาราง ผู้ป่วยสามารถที่จะวางแผนในการถ่ายปัสสาวะออกก่อนที่ปัสสาวะจะเล็ดครั้งต่อไป มักมีการขอให้ผู้ป่วยจดบันทึกรายละเอียดการถ่ายปัสสาวะ เวลา และจำนวนปัสสาวะ ใน 1วัน หรือเป็นเวลาหลายวัน หรือ 1 สัปดาห์

การรักษาอาการปัสสาวะเล็ดด้วยยาอาจรวมถึงการใช้ ยา Fesoterodine ยา Tolterodine และ ยา Oxybutynin มีรายงานว่าการใช้ยาได้ผลค่อนข้างน้อยและต้องคำนึงผลข้างเคียง (Side effects) ด้วย

การผ่าตัดอาจเป็นการบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดได้ ภายหลังจากการพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว การตรวจยูโรพลศาสตร์ (Urodynamic) ได้พิสูจน์แล้วว่าการผ่าตัดสามารถช่วยรักษาการหย่อน ซึ่งช่วยรักษาอาการปัสสาวะเล็ดชนิด (Urge incontinence) ได้

ผ่าตัดที่เรียกว่า Sling procedure เป็นการผ่าตัดที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดแบบ Stress incontinence ในผู้หญิง โดยใช้เชือก (Sling) ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในรูปของโบว์เส้นเล็ก หรือบางทีก็ทำด้วยวัสดุชีวภาพที่ได้จากวัวหรือหมู หรือจากเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ท่อปัสสาวะของผู้ป่วยเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมาใช้ทดแทนกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เสื่อมไป และช่วยพยุงท่อปัสสาวะ

การผ่าตัด TVT/Transvaginal tape (Tension-free transvaginal) เป็นการผ่าตัดที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดแบบ Stress incontinence โดยการวางแถบตาข่ายพอลิโพรพิลีน (Polypropylene mesh tape) ไว้ใต้ท่อปัสสาวะ เป็นการผ่าตัดเล็กโดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที เปิดแผลเพียงเล็กๆ 2 จุด และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย มีอัตราในการรักษาได้อยู่ที่ร้อยละ 86 - 95 อาการแทรกซ้อน เช่น กระเพาะปัสสาวะทะลุ หากทำไม่ถูกวิธี เป็นหัตการที่เจาะเข้าร่างกายเพียงเล็กน้อย (Minimally invasive procedure)

การผ่าตัด TOT (Transobturator tape) เป็นการผ่าตัดที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดแบบ Stress incontinence โดยการพยุงท่อปัสสาวะ ด้วยการใส่แถบตาข่ายไว้ใต้ท่อปัสสาวะทางขาหนีบ (Groin area) การผ่าตัดวิธีนี้มีอัตราในการรักษาได้อยู่ที่ร้อยละ 82

การปรับตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder repositioning) เนื่องจากผู้หญิงที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดแบบ Stress incontinence มักมีกระเพาะปัสสาวะที่หย่อนยานลงมาถึงช่องคลอด ดังนั้นการผ่าตัดนี้จึงต้องการดึงให้กระเพาะปัสสาวะอยู่สูงกว่าระดับปกติ แล้วรัดด้วยเชือกไว้กับกล้ามเนื้อ เอ็น หรือกระดูก ในกรณีที่รุนแรงอาจผูกกระเพาะปัสสาวะด้วยแถบที่กว้าง ซึ่งไม่เป็นการช่วยยกกระเพาะปัสสาวะเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยกดก้นลงเพื่อป้องกันการรั่วที่อาจเกิดกับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนบน

การผ่าตัด MMK (Marshall-Marchetti-Krantz) เป็นการผ่าตัดบริเวณคอของท่อปัสสาวะ (Bladder neck suspension surgery) ผู้หญิงประมาณร้อยละ 85 จะใช้วิธีการผ่าตัดแบบนี้เพื่อรักษาอาการปัสสาวะเล็ดแบบ Stress incontinence

นอกจากนี้ ผ้าอ้อมซึมซับปัสสาวะก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยคนที่มีอาการปัสสาวะเล็ด ซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นแบบกางเกงซึมซับหรือแผ่นซึมซับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2012, January 2].