ปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณ “โรคชำรั่ว” มาเยือน (ตอนที่ 4)

นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลราชวิถี ชี้แนะว่า ส่วนมากแล้ว “โรคชำรั่ว” นี้มักจะป้องกันได้ด้วยการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางอย่าง นอกจากงดดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม วิธีการพฤติกรรมบำบัดก็ช่วยได้เหมือนกัน

ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถมีอาการปัสสาวะเล็ดได้ ถ้ามีการบาดเจ็บเกี่ยวกับระบบประสาท โรคพิการแต่กำเนิด (Congenital defects) โรคหลอดเลือดอุดตัน (Strokes) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) และปัญหาทางกายภาพที่เกี่ยวกับการมีอายุที่มากขึ้น

จากการประเมินโดย National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ร้อยละ 17 ของผู้ชายที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปเคยมีปัญหาเรื่องปัสสาวะเล็ด และสัดส่วนที่เป็นจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ปัสสาวะเล็ดเป็นอาการที่รักษาได้ในทุกวัย

ในเด็กอาการปัสสาวะเล็ดจะน้อยลงเมื่ออายุหลัง 5 ปี กล่าวคือ มีประมาณร้อยละ 10 ที่อายุ 5 ปี ร้อยละ 5 ที่อายุ 10 ปี และร้อยละ 1 ที่อายุ 18 ปี ในเด็กผู้หญิงจะมีอาการเป็น 2 เท่าของเด็กผู้ชาย

การรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่การจัดพฤติกรรม (Behavior management) การฝึกหัดให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดและควบคุมการขับถ่าย (Bladder training) การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor therapy) การกินยา และ การผ่าตัด การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นกับการวิเคราะห์โรคเป็นอันดับแรก

หนึ่งในการรักษาที่นิยมมากที่สุดคือ การออกกำลังกายบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การฝึกขมิบกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด (Kegel exercise) จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นแข็งแรง และกล้ามเนื้อหูรูด (Sphincter muscles) สามารถลดการรั่วได้

ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60 ปี จะได้รับประโยชน์มากที่สุด ผู้ป่วยควรทำอย่างน้อย 24 ครั้ง ใน 1 วัน และอย่างน้อย 6 สัปดาห์ติดต่อกัน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และทำให้การควบคุมกระเพาะปัสสาวะทำได้ดีขึ้น

ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของผู้หญิง ด้วยการใช้ชุด Vaginal cones ซึ่งเป็นแท่งพลาสติกจำนวน 5 อัน ที่มีน้ำหนักต่างกัน โดยเริ่มจากการที่ผู้ป่วยสอดแท่งพลาสติกขนาดเล็กในช่องคลอดแล้วค้างไว้ด้วยการหดตัวอัตโนมัติของกล้ามเนื้อช่องเชิงกราน ทำวันละ 2 ครั้งๆ ละ 15-20 นาที สามารถทำได้ในขณะยืนหรือเดิน เช่น ระหว่างการทำงานบ้านหรือเดินในบ้าน

เมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น ก็ให้เพิ่มน้ำหนักของแท่งพลาสติกเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงทีละน้อย กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะแข็งแรงขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ และอาการปัสสาวะเล็ดระดับอ่อนถึงระดับปานกลางจะสามารถหายไปหลังระยะเวลา 8 - 12 สัปดาห์

ยังมีวิธี Biofeedback ซึ่งเป็นการสะท้อนกลับทางชีวภาพ ด้วยการใช้เครื่องมือวัดค่าการทำงานของร่างกายหรือการจดบันทึกเพื่อติดตามดูการหดตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ วิธีนี้สามารถใช้คู่กับการออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อผ่อนคลายและรักษาอาการปัสสาวะเล็ด

แหล่งข้อมูล:

  1. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2012, January 1].
  2. ปัสสาวะเล็ดราด ปัญหาที่มิอาจมองข้าม http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=955000015102 [2013, January 1].