ปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณ “โรคชำรั่ว” มาเยือน (ตอนที่ 3)

ผู้ป่วยเป็นโรคชำรั่ว จะมีอาการหลากหลายประเภท โดยสามารถแบ่งได้เป็น

  • Stress incontinence เป็นชนิดที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกเพราะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (กล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้น ปัสสาวะ อุจาระ และกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการคลอดบุตร) ไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม ยกของหนัก จึงมีปัสสาวะเล็ดราดออก อาการลักษณะนี้มักพบในผู้หญิงที่เริ่มมีอายุ น้ำหนักมาก เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก เคยมีการผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะ หรือเคยรับการฉายรังสีรักษาบริเวณนั้นมาก่อน
  • Urge incontinence เป็นชนิดที่มีอาการปวดปัสสาวะรุนแรง จนไม่สามารถรอไปเข้าห้องน้ำได้ทัน จึงมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาเลย ซึ่งแบบนี้พบบ่อยในกลุ่มผู้หญิงทำงาน
  • Overflow incontinence เป็นอาการที่ปัสสาวะจำนวนเล็กน้อยไหลหรือหยดอยู่เรื่อยๆ Mixed incontinence เป็นลักษณะร่วมของ Stress incontinence และ Urge incontinence พบบ่อยในผู้หญิงสูงอายุ และบางครั้งอาจมีอาการแทรกซ้อนจากการที่ปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น
  • Structural incontinence เป็นปัญหาด้านโครงสร้างที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด มักตรวจพบในเด็ก เช่น การมีท่อไตผิดปกติ (Ectopic ureter)
  • Functional incontinence เป็นชนิดที่ผู้ป่วยต้องการปัสสาวะแต่ไม่สามารถปัสสาวะในห้องน้ำได้ ปัสสาวะอาจมีปริมาณมาก ส่วนสาเหตุที่เกิดรวมถึง การมีความรู้สึกสับสน (Confusion) เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) สายตาไม่ดี ขาดการเคลื่อนไหว (Poor mobility) ขาดความคล่องแคล่ว (Poor dexterity) ไม่อยากไปห้องน้ำเพราะมีอาการหดหู่ ซึมเศร้า ตกใจหรือโมโห เมาหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถไปห้องน้ำได้ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)
  • Nocturnal enuresis คือ อาการปัสสาวะรดที่นอนเวลากลางคืน มักพบภาวะนี้ในเด็กเล็ก
  • Transient incontinence เป็นอาการปัสสาวะเล็ดชั่วคราว อาจเกิดจากการกินยาบางประเภท อะดรีนาลินในต่อมหมวกไตไม่พอ ท้องผูกอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อทางเดินปัสสาวะและอุดกั้นการไหลของปัสสาวะ
  • Giggle incontinence มักเกิดในเด็กขณะหัวเราะ
  • Double incontinence เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน (Levator ani) บริเวณกระเพาะปัสสาวะและที่ถ่ายอุจจาระ ผู้ป่วยที่มีปัสสาวะเล็ดมักมีอาการอุจจาระเล็ดด้วยเช่นกัน จึงเรียกว่าเป็นอาการเล็ดซ้ำซ้อน ทั้งนี้ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยที่มีปัสสาวะเล็ด จะมีอาการชนิดนี้

ในผู้หญิง อาการปัสสาวะเล็ดเกิดได้ทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุ ประมาณร้อยละ 35 ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะมีอาการปัสสาวะเล็ด และผู้หญิงจะมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย และปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะมักเกิดร่วมกับปัญหาสุขภาพอื่น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หดหู่ซึมเศร้า และการไม่ค่อยออกกำลังกาย

ในผู้ชาย จะเกิดอาการปัสสาวะเล็ดน้อยกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เพราะผู้ชายมีทางเดินปัสสาวะที่แตกต่างจากผู้หญิง ผู้ชายมักมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่ออยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

แหล่งข้อมูล:

  1. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2012, December 31].