ปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณ “โรคชำรั่ว” มาเยือน (ตอนที่ 1)

เคยได้ยินไหม บางคนเวลาที่ ไอ หรือ จาม ไม่ใช่แค่น้ำมูกน้ำตาเล็ดออกมาอย่างเดียว แต่มีของแถมไม่พึงประสงค์อย่าง "ปัสสาวะเล็ด" ตามมาด้วย ทั้งที่พยายามกลั้นแล้วแต่ยังเอาไม่อยู่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า "อาการชำรั่ว" ดูเหมือนเป็นอะไรที่ไม่ร้ายแรง และหลายคนก็คิดว่ายอมรับสภาพได้ ทว่ายิ่งปล่อยให้เรื้อรังไปนานวันเข้า จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบั่นทอนสุขภาพได้ในที่สุด

นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายถึงอาการของโรคนี้ว่ามีตั้งแต่อาการเบาสุดไปจนถึงหนักสุด อาการเบาๆ ก็คือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ แต่ที่หนักสุดก็คือ ห้ามใจไม่ได้เลย ปวดเมื่อไรต้องเข้าห้องน้ำทุกที ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ และแถมปวดเมื่อไรก็จะมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา เช่นเดียวกับเวลาไอหรือจาม หรือแม้กระทั่งหัวเราะบางคนก็มีปัสสาวะเล็ดออกมาด้วยเช่นกัน

นพ.ดนัยพันธ์ กล่าวว่า ในทางการแพทย์จะใช้คำว่า โอเอบี ซึ่งย่อมาจาก Overactive Bladder หมายถึง การที่กระเพาะปัสสาวะทำงานไว และบีบตัวไม่เป็นจังหวะ แต่ก่อนอื่นเราต้องย้อนไปดูก่อนว่า กระเพาะปัสสาวะมันทำงานอะไรบ้าง กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่เป็นตัวเก็บและตัวขับ มีหน้าที่เหมือนกับลูกโป่ง คือ ยืดได้และหดได้

เมื่อไรที่ยืด หมายถึงปัสสาวะจะเข้ามาเก็บอยู่ในถุงใบนี้ ซึ่งจะเก็บไว้ประมาณ 100 หรือ 200 ซีซี แล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกปวดปัสสาวะนิดๆ สำหรับคนทั่วไปก็จะส่งความรู้สึกมาที่สมอง แล้วรอก่อนได้ กระทั่งถุงนี้ยืดต่อไปจนถึงประมาณ 300-400 ซีซี จะเริ่มปวดมาก แต่เราก็ยังจะควบคุมได้ 5 นาที หรือ 10 นาที หรือเลื่อนต่อไปได้ แต่ถ้าเราจะไปปัสสาวะในช่วง 300-400 ซีซี กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวเอง พอไปถึงห้องน้ำก็จะบีบตัวออกมาเองโดยที่เราไม่ต้องเบ่ง ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ปกติ

ปกติคนเราจะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวัน ปริมาณจะอยู่ที่ 2.5 ลิตร ซึ่งถือว่ามากแล้ว แต่ถ้า 10 ครั้งต่อวัน และครั้งละ 300 ซีซี ขึ้นไปจะเท่ากับ 3 ลิตร ซึ่งถือว่ามากเกินไป อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่เกิดอาการโอเอบีมักจะครั้งหนึ่งไม่ถึง 300 ซีซี อาจจะ 50 หรือ 100 ซีซี และอาจจะปัสสาวะวันหนึ่งถึง 20 หนเลยทีเดียว

สาเหตุที่เราปัสสาวะบ่อยเพราะเรารู้สึกเร็วกว่าคนอื่น กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเร็วกว่าคนอื่น ความรู้สึกที่เร็วกว่าคนอื่นบางทีเราก็ควบคุมได้ รักษาได้ด้วยการรอนิดหนึ่ง แทนที่เราจะปัสสาวะตอนที่กักเก็บได้ 100 ซีซี ก็พยายามยืดไปอีกประมาณ 10 นาที หรือ 20 นาที ไม่ใช่ว่าปวดนิดๆ ก็ไปปัสสาวะแล้ว ซึ่งมีส่วนทำให้กระเพาะปัสสาวะเล็กลง และมีความรู้สึกไวขึ้น ทางแก้เบื้องต้นก็คือ ลองรอไปสัก 5 นาที คือถ้าลองผ่านช่วงเวลาความรู้สึกแรกว่าปวดปัสสาวะตงิดๆ ไปได้ การรู้สึกปวดจะหยุดไป รอไปจนถึงจุดที่ทนไม่ไหวแล้วค่อยไปปัสสาวะ แต่ถ้ามีอาการหนักๆ แล้วควรไปพบแพทย์ทันที

โรคชำรั่ว หรือ อาการปัสสาวะเล็ด (Urinary incontinence (UI), Involuntary urination, Enuresis) หมายถึง ภาวะที่มีปัสสาวะไหลเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ (กลั้นปัสสาวะไม่ได้)

น้ำและของเสียในร่างกายจะถูกขับออกโดยไต ทางกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ในระหว่างการถ่ายปัสสาวะ กล้ามเนื้อ Detrusor ในผนังกระเพาะปัสสาวะจะหดตัวทำให้ปัสสาวะไหลออกทางท่อปัสสาวะ ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อ Sphincter ที่อยู่รอบๆ ท่อปัสสาวะจะคลายตัวให้ปัสสาวะไหลออกจากร่างกาย อาการปัสสาวะเล็ดจะเกิดเมื่อกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหดตัวทันทีทันใดหรือกล้ามเนื้อที่อยู่รอบท่อปัสสาวะคลายตัวในทันทีทันใด

แหล่งข้อมูล:

  1. ปัสสาวะเล็ดราด ปัญหาที่มิอาจมองข้าม http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=955000015102 [2012, December 29].
  2. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2012, December 29].