ปอดอักเสบในเด็ก (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเริ่มเมื่อทารกอายุได้ 2 เดือน เช่น การฉีดวัคซีน Pneumococcal conjugate (PCV13) ที่ครอบคลุมเชื้อ 13 สายพันธุ์ ซึ่งมีการฉีดเป็นชุด ฉีดตอนอายุ 2-4-6 เดือน และ 12-15 เดือน

ส่วนวัคซีนตัวอื่นอย่าง Pneumococcal polysaccharide (PPV23) ที่ครอบคลุมเชื้อ 23 สายพันธุ์นั้น แนะนำให้ฉีดในเด็กโต (24-59 เดือน) ที่มีการป่วยเป็นโรคต่อไปนี้ด้วย

  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia)
  • โรคหัวใจ
  • โรคปอด
  • โรคไตวาย
  • ม้ามถูกทำลายหรือไม่มีม้าม
  • มีการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ติดเชื้อเฮชไอวี (Human immunodeficiency virus)

นอกจากนี้การให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีสะอาด ปราศจากมลภาวะ และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างพอเพียง เช่น การให้กินนมแม่ใน 6 เดือนแรก ก็เป็นการช่วยป้องกันการเป็นปอดอักเสบได้

ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ให้แนวทางในการป้องกันโรคกลุ่มอาการไข้หวัดและปอดบวมที่เหมือนกัน ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรดูแลที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ
  2. มีอนามัยส่วนบุคคล โดยฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตาหรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่ายคือ การอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์
  3. เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญเด็กทุกคนควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ
  4. ผู้เลี้ยงดูเด็กควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรนำมาพบแพทย์

บรรณานุกรม

1. แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/33883-แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก.html [2016, December 7].

2. Pneumonia. http://kidshealth.org/en/parents/pneumonia.html [2016, December 7].

3. Pneumonia. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs331/en/ [2016, December 7].

4. Pneumonia. https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/chest-lungs/Pages/Pneumonia.aspx [2016, December 7].