ปวดหัวดั่งสายฟ้าฟาด (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ปวดหัวดั่งสายฟ้าฟาด-2

      

      โดยผู้ป่วย RCVS จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือ โรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack = TIA) ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ใบหน้า แขน หรือ ขา ด้านใดด้านหนึ่งชาหรืออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน
  • งุนงงสับสนอย่างเฉียบพลัน
  • พูดลำบากอย่างเฉียบพลัน
  • มีปัญหาเรื่องการมองเห็นของตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างอย่างเฉียบพลัน
  • เดินไม่ได้อย่างเฉียบพลัน
  • เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว อย่างเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ

      นอกจากนี้ในผู้ป่วยหญิงอาจมีอาการดังต่อไปนี้เพิ่มด้วย

  • ปวดใบหน้า แขน หรือ ขา
  • สะอึก หรือ คลื่นไส้
  • เจ็บหน้าอก หรือ ใจสั่น (Palpitations)
  • หายใจลำบาก

      สำหรับสาเหตุของการเกิด RCVS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เช่น ภาวะหลังการคลอด (Postpartum) หรือการเปลี่ยนยาคุม หรือมีประวัติการเป็นไมเกรน ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สัมพันธ์กันกับ RCVS ได้แก่

  • การเสพยา
  • การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มแบบเมาหัวราน้ำ (Binge drinking)
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า
  • การใช้ยาแก้คัดจมูก (Nasal decongestants)
  • มีเนื้องอก
  • ระดับแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

      ในการวินิจฉัยว่าเป็น RCVS หรือไม่ แพทย์มักเริ่มด้วยการตรวจร่างกายและดูประวัติสุขภาพ ซึ่งอาจมีการทดสอบดังต่อไปนี้ด้วย

  • เครื่องเอ็มอาร์ไอ หรือ ซีทีสแกน เพื่อดูบริเวณหลอดเลือดที่ตีบ
  • การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด (Angiography) ด้วยการเอกซเรย์ดูเส้นเลือดแดงหรือดำว่ามีความผิดปกติในบริเวณใด โดยใช้สายสวนใส่เข้าไปในเส้นเลือด และใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดแดงเพื่อให้เห็นภาพเส้นเลือดได้ชัดเจนขึ้น
  • การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อดูว่าตับและไตทำงานปกติหรือไม่

      สำหรับการรักษา RCVS นั้นขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ในบางกรณีอาจไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ดี ควรเข้ารับการรักษาทันทีเนื่องจากมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นได้ อาจมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดและให้ยารักษาไมเกรน เช่น ยา Aspirin หรือ ยา Depakote และบางกรณีอาจมีการให้ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) เพื่อให้หลอดเลือดคลายตัวและไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการปวดศีรษะแบบสายฟ้าฟาด

แหล่งข้อมูล:

  1. Reversible Cerebral Vasoconstriction Syndrome (RCVS). https://www.cedars-sinai.edu/Patients/Health-Conditions/Reversible-Cerebral-Vasoconstriction-Syndrome-RCVS.aspx [2018, June 2].