ปวดศีรษะจากเครียด (Tension typed headache)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลง มีความวุ่นวาย เร่งรีบ และมีปัญหาต่างๆมากมาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน รวมทั้งความเครียด อาการปวดศีรษะก็เป็นผลกระทบหนึ่งจากความเครียดเช่นเดียวกัน เราเรียกว่า โรคปวดศีรษะจากความเครียด หรือโรคปวดศีรษะจากเครียด (Tension typed headache หรือ Tension headache) โรคดังกล่าวส่งผลต่อการดำรง ชีวิตอย่างมาก บางคนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ บางคนเกิดสภาวะติดยาแก้ปวด ซึ่งโรค/อาการนี้ต้องรักษาอย่างไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่ ลองติดตามบทความนี้ดูครับ

อาการปวดศีรษะพบบ่อยหรือไม่?

ปวดศีรษะจากเครียด

ปวดศีรษะ เป็นอาการที่กล่าวได้ว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด จากการศึกษาพบว่า 90-95% ตลอดชีวิตของเรานั้น ต้องเคยประสบอาการปวดศีรษะ โดยผู้หญิงมีการปวดศีรษะมาก กว่าผู้ชาย

ปวดศีรษะมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

อาการปวดศีรษะมีสาเหตุ 2 กลุ่มหลักๆ คือ

  • กลุ่มไม่ร้ายแรง (Functional headache) หรือกลุ่มที่ไม่พบมีความผิดปกติ/รอยโรคในสมอง
  • กลุ่มร้ายแรง (Organic headache) หรือกลุ่มที่พบความผิดปกติ/รอยโรคในสมอง

ทั้งนี้ 90-95% ของผู้มีอาการปวดศีรษะมีสาเหตุจากกกลุ่มไม่ร้ายแรง มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากกลุ่มร้ายแรง

ปวดศีรษะกลุ่มไม่ร้ายแรงมีโรคอะไรบ้าง? มีลักษณะอย่างไร?

ปวดศีรษะกลุ่มไม่ร้ายแรง ได้แก่ ปวดศีรษะไมเกรน, ปวดศีรษะจากเครียด, และปวดศีรษะคลัสเตอร์ โดยโรคปวดศีรษะกลุ่มนี้ มีลักษณะสำคัญคือ

  • มีอาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ
  • ไม่พบมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ปากเบี้ยว แขน/ขาอ่อนแรง
  • ช่วงที่ไม่มีอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยก็ปกติดี และ
  • มีอาการปวดศีรษะมานานเรื้อรังเป็นปี

ปวดศีรษะกลุ่มร้ายแรงมีโรคอะไร? มีลักษณะสำคัญอย่างไร?

ปวดศีรษะกลุ่มร้ายแรง ได้แก่ โรคเนื้องอกสมอง โรคมะเร็งสมอง ฝีในสมอง เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) เป็นต้น โดยลักษณะสำคัญของการปวดศีรษะกลุ่มร้ายแรง คือ

  • มีอาการปวดศีรษะขึ้นมาอย่างฉับพลันรุนแรง
  • อาจมีไข้ต่ำร่วมด้วยจากการติดเชื้อ
  • อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นๆ และ
  • มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย

ปวดศีรษะจากเครียดมีลักษณะ/อาการที่สำคัญอย่างไร?

ลักษณะ/อาการที่สำคัญของปวดศีรษะจากเครียด คือ

  • อาการปวดศีรษะเป็นแบบ บีบรัดบริเวณขมับ หน้าผาก ท้ายทอย
  • ปวดศีรษะเป็นๆหายๆ มานานเป็นหลายเดือน หรือเป็นปี
  • ความรุนแรงของการปวดศีรษะไม่มากถึงปานกลาง
  • ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย
  • การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงาน ไม่ได้เพราะจะทำให้อาการปวดศีรษะมากขึ้น
  • มีอาการปวดศีรษะบ่อยมากกว่า 15 วันต่อเดือน และเป็นมากกว่า 6 เดือนใน 1 ปี

ปวดศีรษะจากเครียดเกิดจากอะไร?

กลไกการเกิดปวดศีรษะจากเครียด เกิดจากที่ร่างกายมีความเครียด จึงส่งผลให้ร่างกายมีการตอบสนอง โดยมีการหลั่งสารเคมีบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขมับ ศีรษะ บ่า ไหล่ มีการหดรัดตัว จึงก่อให้เกิดเป็นอาการปวดศีรษะขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดปวดศีรษะจากเครียด?

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปวดศีรษะจากเครียด คือ

  • ผู้ประกอบอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น นักธุรกิจ
  • ผู้ที่นอนน้อย พักผ่อนไม่พอ ทำงานเป็นเวร เพราะร่างกายจะเกิดความเครียดได้ง่าย
  • ผู้ที่มีบุคลิกเคร่งเครียด ไม่รู้จักผ่อนคลาย ไม่ยืดหยุ่น
  • และผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลและซึมเศร้า

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

โดยทั่วไป การพักผ่อน ผ่อนคลาย ทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว อาการปวดศีรษะจากเครียดก็ดีขึ้นได้

แต่ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เมื่อ

  • อาการปวดขมับ/ปวดศีรษะไม่ดีขึ้น ต้องใช้ยาแก้ปวดมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันหลายๆสัปดาห์
  • หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าปวดศีรษะจากเครียด?

การวินิจฉัยโรคปวดศีรษะจากเครียด แพทย์จะพิจารณาจาก

  • ลักษณะอาการการปวดศีรษะ
  • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ
  • ประวัติอาชีพการงาน ภาระในครอบครัว
  • ร่วมกับการตรวจร่างกายที่ไม่พบความผิดปกติใดๆ
  • ทั้งนี้ การตรวจสืบค้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง ไม่มีความจำเป็นใดๆทั้งสิ้น

ปวดศีรษะจากเครียดต่างจากปวดศีรษะไมเกรนอย่างไร?

ทั้ง 2 โรค เป็นโรคที่พบบ่อยและมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ คล้ายกัน จึงทำให้มีความสับสนระหว่าง 2 โรคนี้ ความแตกต่าง 2 โรคนี้ ดังตาราง

ปวดขมับร่วมกับความดันโลหิตสูง เป็นอาการโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่?

กรณีปวดขมับร่วมกับมีความดันโลหิตสูง พบได้บ่อยมาก คือ ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะร่วมกับตรวจพบความดันโลหิตสูง แล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ทานยาลดความดันโลหิตและยาแก้ปวดศีรษะ หลังจากนั้นอาการปวดศีรษะก็หายไป ตรวจวัดความดันโล หิตใหม่ ความดันก็ปกติ จึงเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งหายดีแล้ว จึงไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอีก พอมีอาการปวดศีรษะก็ซื้อยาลดความดันโลหิตสูงและยาแก้ปวดศีรษะมาทานเอง ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกครั้งที่มีอาการปวดศีรษะ โดยไม่ได้ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ

จริงๆแล้วกรณีดังกล่าว ผู้ป่วยอาจจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะอาการปวดศีรษะก็อาจส่งผลให้ความดันโลหิตขึ้นสูงได้ ในขณะที่มีอาการปวดศีรษะ เมื่อพบปวดศีรษะ ความดันโลหิตจึงผิดปกติ (ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่เป็นปฏิกิริยาของร่าง กายเท่านั้น) หรือเป็นความดันโลหิตสูงจริง ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ ซึ่งกรณีนี้ความดันโล หิตต้องสูงมาก เช่น ความดันซีสโตลิก/Systolic/ความดันตัวบนมากกว่า 200 มม.ปรอท ความดันไดแอสโตลิก/Diastolic/ความดันตัวล่าง มากกว่า 110 มม.ปรอท เป็นต้น หรือผู้ป่วยเป็นทั้งโรคความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคปวดศีรษะเรื้อรัง พอทานยาก็ดีขึ้น หยุดยาทานไประยะหนึ่งก็มีอาการอีก เป็นๆ หายๆ อย่างนี้สลับกันไป

ดังนั้น แนะนำว่าถ้ามีอาการปวดศีรษะร่วมกับความดันโลหิตสูงที่ไม่สูงมาก และไม่เคยตรวจพบความดันโลหิตสูงมาก่อน รวมทั้งไม่มีหลักฐานว่า มีอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความดันโลหิตสูง เช่น หัวใจโต ไตเสื่อม/โรคไต ก็ยังไม่ควรทานยาลดความดันโลหิต ควรรักษาอาการปวดศีรษะให้ดี และตรวจวัดความดันโลหิตใหม่สม่ำเสมอ ถ้าความดันโลหิตยังสูงจึงรักษา

ปวดศีรษะจากเครียดรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคปวดศีรษะจากเครียดที่ดีคือ

  • แก้ไขที่ต้นเหตุ ต้องแก้ไขความเครียดให้ได้
  • พักผ่อนให้พอ นอนหลับให้สนิท
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ทานยาแก้ปวดเฉพาะเท่าที่จำเป็น
  • ส่วนยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และกินแล้วสามารถแก้ไขสาเหตุความเครียดได้หรือไม่ ทั้งนี้เรื่องการใช้ยาคลายเครียดและ/หรือยานอนหลับ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยากลุ่มนี้หลายชนิดมีผลข้างเคียงสูง และผู้ป่วยอาจติดยาได้ง่าย

ปวดศีรษะจากเครียดต้องรักษาต่อเนื่องหรือไม่?

กรณีปวดศีรษะเป็นไม่บ่อย เป็นเฉพาะเวลาที่มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุน แรงเท่านั้น และสามารถแก้ไขหรือปรับสภาพจิตใจได้ ไม่มีอาการปวดศีรษะต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็น ต้องรักษาต่อเนื่อง

แต่ถ้ามีอาการเรื้อรัง ต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ นอนไม่หลับ เครียดต่อเนื่อง ก็มีความจำเป็นต้องให้แพทย์รักษาต่อเนื่อง

ข้อควรระวังในการรักษาปวดศีรษะจากเครียดคืออะไร?

ข้อควรระวังในการรักษาปวดศีรษะจากเครียด คือ

  • การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป ทั้งขนาดและระยะเวลา เพราะจะเกิดผลข้างเคียงจากยาได้
  • อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุ โดยไม่เคยมีประวัติปวดศีรษะมาก่อน แต่มีลักษณะอา การปวดศีรษะเข้าได้กับปวดศีรษะจากเครียด ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อตรวจประเมินให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่นๆ (เช่น มีรอยโรคในสมอง) ก่อนที่จะบอกว่าเป็นปวดศีรษะจากความเครียด

การรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกได้ผลหรือไม่?

การรักษาโรคปวดศีรษะจากเครียดด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่น การนวดแผนไทย การฝังเข็ม พบว่าได้ประโยชน์ ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดศีรษะก็สามารถนวดผ่อนคลายได้

ป้องกันไม่ให้เกิดปวดศีรษะจากเครียดได้หรือไม่?

ปวดศีรษะจากเครียด เป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการพยายามให้มีความเครียดน้อยที่สุด ความเครียดนั้นอาจเกิดจากสุขภาพจิตที่มีความวิตกกังวล หรือเกิดจากร่างกายพักผ่อนไม่พอ ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนร่างกายเกิดความเครียดขึ้นได้ ดังนั้น ต้องพยายามผ่อนคลาย และมีการหยุดทำงานเป็นระยะๆ หลับตาและนวดคลึงเบาๆบริเวณขมับ เบ้าตาทั้งสองข้าง ไหล่ทั้งสองข้าง ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์บ่อยๆ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะจากเครียดได้

ปวดศีรษะจากเครียดมีโอกาสเป็นมะเร็งสมองหรืออัมพาตหรือไม่?

ผู้ป่วยปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสมองสูงกว่าคนทั่วไป และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัมพาตด้วย

เมื่อใดควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการปวดศีรษะลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือ รุนแรงมากขึ้น
  • ใช้ยาแก้ปวดมากขึ้น
  • หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น มือ เท้าชา หรือมีอาการอ่อนแรง

ปวดศีรษะจากเครียดรักษาหายหรือไม่? ดูแลตนเองอย่างไร?

ปวดศีรษะจากเครียด เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ร้ายแรง สามารถรักษาหายได้ และ การดูแลตน เองเมื่อเป็นโรคนี้ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การป้องกัน ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ

  • การรู้จักบริหารจัดการกับความเครียดของตนเอง
  • การรู้จักการผ่อนคลาย
  • และการพักผ่อน นอนหลับที่เพียงพอ

สรุป

ปวดศีรษะจากเครียดเป็นโรคที่พบบ่อย ไม่ร้ายแรง สามารถป้องกันและรักษาหายได้ เพียงแค่ท่านเดินทางสายกลางตามหลักพุทธศาสนา ท่านก็ห่างไกลจากโรคนี้