ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ธรรมดา (ตอนที่ 1)

ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ธรรมดา

เคน หนุ่มวัย 37 ปี 1 ใน 4 สมาชิกวง F4 ของไต้หวัน ต้องถูกวิจารณ์ถึงรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าตนเองรู้สึกแย่มากกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเขาได้เปิดใจถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ และน้ำหนักตัวของตัวเองให้ทุกคนได้ทราบกันเป็นครั้งแรกว่า

เขามีอาการป่วยของโรคปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) ซึ่งเป็นอาการที่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเกิดการอักเสบจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่มีต่อร่างกาย จนทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆ ได้เลย ซึ่งตอนนั้นเขาไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ผลกระทบที่มีต่อร่างกายจึงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

โรคปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) ไม่ใช่รูปแบบของโรคไขข้ออักเสบ (Arthritis) แต่เป็นการปวดเรื้อรังที่คล้ายโรคไขข้ออักเสบ เป็นความผิดปกติที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal pain) ไปทั่วตัว เจ็บเมื่อกด ร่วมกับอาการเหนื่อยล้า มีปัญหาเรื่องการนอน ความจำ และอารมณ์

มีชาวอเมริกันมากกว่า 12 ล้านคน ที่เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อ และส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุระหว่าง 25-60 ปี โดยเพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 10 เท่า

อาการของโรคปวดกล้ามเนื้อโดยทั่วไป ได้แก่

  • อาการปวดที่แพร่กระจายไปทั่วตัว (Widespread pain) – ปวดตื้อๆ (Dull ache) อย่างน้อย 3 เดือน ปวดทั้งตัว ทั้งซีกซ้ายซีกขวา ส่วนบนส่วนล่าง
  • เหนื่อยล้า (Fatigue) – มักรู้สึกเพลีย
  • นอนไม่หลับ (Insomnia) หรือตื่นขึ้นงัวเงีย เพลียเหมือนไม่ได้นอน การนอนหลับมักถูกรบกวนด้วยอาการปวดและมีความผิดปกติด้านการนอน (sleep disorders) เช่น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) และ มีภาวะหยุดหายใจช่วงสั้นๆ ขณะนอน (Sleep apnea)
  • มีอาการเมื่อย (Stiffness) หลังตื่นนอนหรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
  • มีปัญหาในด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive difficulties) - ไม่มีสมาธิ หลงลืม หรือที่เรียกว่า Fibro fog
  • ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องผูก หรือลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome = IBS)
  • เครียดหรือปวดไมเกรน
  • หน้าและขากรรไกรกดเจ็บ (Tenderness)
  • วิตกกังวล (Anxious) หรือ หดหู่ (Depressed)
  • หน้า แขน มือ ขา เท้า ชา (Numbness) หรือ เป็นเหน็บ (Tingling)
  • ปวดปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Incontinence)
  • รู้สึกเหมือนแขนและเท้าบวม
  • ปาก จมูก และตาแห้ง
  • มีภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ต่อความร้อนหรือเย็น

แพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรคปวดกล้ามเนื้อที่แท้จริง แต่คิดว่าคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

  • พันธุกรรม (Genetics) – เพราะโรคนี้มักเกิดในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมาก่อน
  • การติดเชื้อ – อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อได้
  • การได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือทางอารมณ์จิตใจ (Physical or emotional trauma)

แหล่งข้อมูล

  1. คุ้มแล้วหรือ เพื่อลุคคุณหนู? สั่งซื้อวัสดุจัดฟันออนไลน์ ติดเองง่าย กับปัญหาฟันตายในปาก. http://www.thairath.co.th/content/595150 [2016, April 4].
  1. หลั่งน้ำตาเผยสาเหตุความอ้วน "เคน F4" ขอสู้อีกสักตั้งหวังกลับไปผอมเหมือนเดิม. http://manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9590000040481 [2016, May 2].
  2. Fibromyalgia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fibromyalgia/basics/definition/con-20019243 [2016, May 2].
  3. Fibromyalgia Overview. http://www.webmd.com/fibromyalgia/ [2016, May 2].
  4. What Is Fibromyalgia? https://nccih.nih.gov/health/supplements/coq10 [2016, May 2].
  5. Fibromyalgia. http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Fibromyalgia [2016, May 2].