“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 7 และตอนจบ)

ด้านรองศาตราจารย์นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนั้น แพทย์ต้องรีบนำอวัยวะที่ต้องการออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอวัยวะขาดเลือดหรือขาดออกซิจน ซึ่งจะมีผลให้เส้นเลือดในอวัยวะตีบตัน

ดังนั้น ทันทีที่นำอวัยวะออกจากร่างกายผู้บริจาคแล้ว จำเป็นต้องบริบาลโดยการล้างหลอดเลือดด้วยน้ำยาพิเศษที่เย็นจัด เพื่อเป็นการถนอมเนื้ออวัยวะ และล้างขยายหลอดเลือดไว้ เช่นกรณีบริจาคไต ปัจจุบันสามารถบริบาลและเก็บไตไว้ได้นานถึง 72 ชั่วโมง และใช้ได้ผลดี และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เหมือนคนปกติ

ในแง่ของความปลอดภัยจากการปลูกถ่ายอวัยวะนั้น ในสหรัฐอเมริกาถูกควบคุมโดยคณะกรรมการอาหารและ (The U.S. Food and Drug Administration = FDA) ที่ออกกฎเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยในการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ การป้องกันการแพร่เชื้อติดต่อกัน ซึ่งกฎระเบียบจะรวมถึงหลักเกณฑ์ในการคัดกรองการบริจาค การทดสอบ และการบริจาคเนื้อเยื่อ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2550 หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control = CDC) ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้บริจาคชายอายุ 38 ปี เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อเฮชไอวี (Human immunodeficiency virus = HIV) และ เชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) ในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 4 ราย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเหตุผลที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อในขั้นการทดสอบนั้นอาจเป็นเพราะพวกเขาได้รับการติดต่อภายใน 3 สัปดาห์ ก่อนผู้บริจาคจะเสียชีวิต ดังนั้นสารแอนติบอดี (Antibodies) จึงยังมีไม่สูงพอที่จะตรวจพบได้

เพราะวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมานั้นเป็นวิธีการตรวจแบบการหาแอนติบอดี โดยการตรวจหาการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของร่างกาย ดังนั้น ปัญหาของวิธีนี้คือ ร่างกายต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการตรวจหาเชื้อไวรัส แล้วจึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อ และช่วงเวลาตั้งแต่ที่เราได้รับเชื้อมา จนถึงช่วงที่ร่างกายสร้างภูมินี้เองที่เราเรียกกันว่า ระยะฟักตัว หรือ (Window Period)

จากกรณีการติดเชื้อนี้เอง เป็นเหตุให้ทุกฝ่ายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสารแอนติบอดีที่เร็วขึ้น ซึ่งการทดสอบหาสารแอนติบอดีของเชื้อเฮสไอวีจำนวนที่ไม่สูงนี้ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 90 วัน ส่วนเชื้อไวรัสตับอักเสบซีใช้เวลาอย่างต่ำ 18–21 วัน ก่อนการบริจาค เพราะต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นเคยต่อต้านเชื้อแล้วจึงตรวจพบ

อย่างไรก็ดีปัจจุบันได้มีวิธีการตรวจเลือดแบบใหม่ที่มีความไวกว่าวิธีการเดิม เป็นการตรวจเลือดที่เรียกว่า "แนท" (Nucleic Acid Testing = NAT) ซึ่งสามารถตรวจสอบสารแอนติบอดีของเชื้อเฮชไอวีและเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยใช้เวลาเพียง 7-10 วัน หลังการติดเชื้อ

อนึ่ง เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ และเพื่อสานความหวังให้กับคนใกล้ชิดและคนในครอบครัวของผู้รับบริจาค ซึ่งการบริจาคอวัยวะนั้นในทางพระพุทธศาสนาถือเป็นการบำเพ็ญทานระดับกลาง (อุปบารมี) เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง เราสามารถบริจาคอวัยวะที่ใช้ประโยชน์ได้หลังการเสียชีวิต เพื่อนำไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญเสื่อมสภาพ ทั้งนี้สามารถติดต่อบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

แหล่งข้อมูล:

  1. ไทยขาดแคลนอวัยวะบริจาค เผยยอดผู้ป่วยจ่อคิวกว่า 3,500 ราย http://www.thairath.co.th/content/edu/370724 [2013, October 1].
  2. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].