“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 6)

จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยปี พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยสมองตายและบริจาคอวัยวะ 136 ราย เพิ่มขึ้นจาก 113 รายในปี พ.ศ. 2554 และ 87 รายในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งสัดส่วนการบริจาคของไทยต่ำกว่าต่างประเทศราว 15 เท่าตัว เมื่อคิดจากจำนวนประชากรของประเทศไทย ควรจะมีการบริจาคอวัยวะอยู่ที่ประมาณ 1,000 รายต่อปี ในขณะนี้มีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ตับอ่อน หัวใจ มากถึง 3,516 ราย

ปัจจุบันยังมีการขาดแคลนอวัยวะที่บริจาคอยู่อีกมาก การรอรับบริจาคอวัยวะต้องเข้าคิวรอยาว มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนในประเทศจีน 50,000 คนในละตินอเมริกา (ร้อยละ 90 เป็นการรอการเปลี่ยนถ่ายไต) และอีกเป็นพันๆ รายในแอฟริกา ที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่

โดยธรรมเนียมแล้ว ชาวมุสลิมจะมีข้อห้ามความเชื่อเกี่ยวกับการทำลายร่างกาย ซึ่งทำให้คนมุสลิมส่วนใหญ่การปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันทางการมุสลิมเริ่มยอมรับการปฏิบัตินี้แล้วหากจะช่วยให้ชีวิตคนอยู่รอดได้ต่อไป

อัตราการบริจาคอวัยวะในละตินอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 40–100 ต่อประชากรล้านคน ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี ในอุรุกวัย คิวบา และชิลี ประมาณร้อยละ 90 ของการปลูกถ่ายอวัยวะมาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีประมาณร้อยละ 35 สำหรับแถบเอเชียก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเพิ่มอัตราการรับบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว

การปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศจีนเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และจีนเองก็เป็นประเทศที่มีโปรแกรมการปลูกถ่ายอวัยวะที่มากที่สุดในโลก โดยก่อนปี พ.ศ.2547 มีการปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 13,000 รายต่อปี อย่างไรก็ดีการบริจาคอวัยะวะในจีนยังถือเป็นเรื่องที่ขัดกับวัฒนธรรมประเพณี และการบริจาคอวัยวะที่ไม่ได้สมัครใจก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของจีน ทั้งนี้ โปรแกรมการปลูกถ่ายอวัยวะในจีนเป็นที่ดึงดูดคนทั่วไปมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ที่มีการซื้อขายอวัยวะจากศพของนักโทษที่เสียชีวิต

สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะในอิสราเอลนั้น มีการขาดแคลนอวัยวะอย่างมากเพราะขัดกับหลักความเชื่อทางศาสนา ดังนั้นหนึ่งในสามของการปลูกถ่ายหัวใจของชาวอิสราเอลจึงเกิดขึ้นในประเทศจีน ส่วนที่เหลือเกิดขึ้นในยุโรป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้าขายอวัยวะเป็นที่น่าสนใจก็คือ “ราคา” จากการอ้างอิงของวารสารทางการแพทย์ของนิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) พบว่า มีการซื้อขายไตมนุษย์ในกรุงมะนิลาที่ราคา $1000–$2000 ในละตินอเมริการาคามากกว่า $10,000 และในแอฟริกาใต้ราคาสูงถึง $20,000 ความแตกต่างกันของราคาขึ้นกับเชื้อชาติของผู้บริจาคอวัยวะซึ่งเป็นจุดดึงดูดการซื้อขายอวัยวะกันทั้งในแอฟริกาใต้และทั่วโลก

ในประเทศจีนการปลูกถ่ายไตอยู่ที่ราคาประมาณ $70,000 ตับอยู่ที่ $160,000 และหัวใจอยู่ที่ $120,000 เมื่อเทียบการปลูกถ่ายอวัยวะในสหรัฐอเมริกาที่ราคาการปลูกถ่ายไตอยู่ที่ $100,000 ตับอยู่ที่ $250,000 และหัวใจอยู่ที่ $860,000 ด้วยปัจจัยด้านราคาจึงทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีผู้นิยมไปปลูกถ่ายอวัยวะกันมาก

แหล่งข้อมูล:

  1. ไทยขาดแคลนอวัยวะบริจาค เผยยอดผู้ป่วยจ่อคิวกว่า 3,500 ราย http://www.thairath.co.th/content/edu/370724 [2013, October 1].
  2. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].