“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 3)

การปลูกถ่ายด้วยซีโนกราฟท์ (Xenograft / xenotransplantation) เป็นการปลูกถ่ายด้วยอวัยวะหรือเนื้อเยื่อจากสัตว์ชนิดอื่น ตัวอย่างเช่น การปลูกถ่ายลิ้นหัวใจจากหมู (Porcine heart valve) ซึ่งเป็นที่นิยมและประสบผลสำเร็จด้วยดี ตัวอย่างอันอื่น เช่น การปลูกถ่ายจากปลามายังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Piscine-primate) การปลูกถ่ายกลุ่มเซลล์ที่ตับอ่อน (Pancreatic / insular tissue) อย่างไรก็ดีการปลูกถ่ายแบบนี้ถือว่ามีอันตราย เนื่องจากมีความเสี่ยงของการเข้ากันไม่ได้กับร่างกายที่สูง ร่างกายปฏิเสธ และมีการติดเชื้อในเนื้อเยื่อ

การปลูกถ่ายแยกส่วน (Split transplants) เป็นการปลูกถ่ายโดยอวัยวะของผู้บริจาคที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่จะเป็นตับ) อาจจะแบ่งให้ผู้รับได้สองคน ซึ่งมักจะใช้แบ่งระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมนัก ทั้งนี้เพราะการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งชิ้นจะประสบความสำเร็จมากกว่า

การปลูกถ่ายแบบโดมิโน (Domino transplants) เป็นการปลูกถ่ายที่ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนปอดทั้งสองข้าง และจะสะดวกขึ้นอีกหากมีการเปลี่ยนทั้งปอดและหัวใจในเวลาเดียวกัน

[Cystic fibrosis เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดแบบลักษณะด้อยอย่างหนึ่ง อาการเด่นเกิดขึ้นกับปอด และมีอาการอื่นๆ เกิดกับตับอ่อน ตับ และลำไส้ได้ด้วย ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติในโปรตีนขนย้ายคลอไรด์และโซเดียมบนผิวเซลล์เยื่อบุ ทำให้มีสารคัดหลั่งข้นเหนียวกว่าปกติ]

ทั้งนี้ ถ้าหากผู้รับอวัยวะมีหัวใจที่มีสุขภาพดี ก็จะสามารถนำหัวใจไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอื่นที่ต้องการได้ นอกจากนี้การปลูกถ่ายแบบนี้ยังใช้กับการปลูกถ่ายตับแบบพิเศษสำหรับผู้ที่มีอาการของโรคที่ตับค่อยๆ ผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งเพื่อทำลายอวัยวะอื่น (Familial amyloidotic polyneuropathy) โดยตับของผู้ป่วยกรณีนี้สามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายให้คนไข้สูงอายุได้อีกต่อหนึ่ง (โดยที่โรคนี้จะไม่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุคนนั้น เพราะผู้สูงอายุมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่า)

การปลูกถ่ายโดมิโนยังรวมถึงการบริจาคอวัยวะเป็นชุด (Series) โดยอวัยวะของผู้บริจาคคนหนึ่งจะถูกนำไปปลูกถ่ายให้ผู้รับอันดับแรกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ (Waiting list) และศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะจะทำการบริจาคอวัยะต่อๆ ไป ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

การปลูกถ่ายแบบเอบีโอ (ABO-incompatible transplants) เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทารกส่วนใหญ่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงเป็นไปได้ที่เด็กเหล่านี้จะรับอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีเลือดไม่เข้ากัน หรือที่เรียกว่า ABO-incompatible (ABOi) transplantation โดยอัตราความอยู่รอดของการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างเลือดเข้าที่เข้ากันไม่ได้และเลือดที่เข้ากันได้ ABO-compatible (ABOc) นั้นใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับการปลูกถ่ายหัวใจในเด็กหรือปลูกถ่ายอวัยวะที่มีลักษณะตัน (Solid organ)

ปัจจัยที่สำคัญก็คือร่างกายผู้รับต้องไม่มีการผลิต Isohemagglutinins และมีระดับของแอนติเจน (T cell-independent antigens) ที่ต่ำ อย่างไรก็ดี วิธีนี้ใช้ไม่ค่อยได้กับการปลูกถ่ายหัวใจในผู้ใหญ่

แหล่งข้อมูล:

  1. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].