“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 2)

สำหรับในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย แพทยสภา สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม พัฒนาระบบการรับบริจาคอวัยวะและการให้บริการปลูกถ่ายอวัยวะแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศทุกกองทุนสุขภาพ และระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายอวัยวะของทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพ

ทั้งนี้เพราะผู้ที่เปลี่ยนอวัยวะแล้ว จะต้องกินยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในปี 2557 จะพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด คือ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อม ทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ต่างๆ จำนวน 38 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว และมีระบบเก็บอวัยวะที่รับบริจาค การขนย้าย และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะภายหลังการเสียชีวิต ตั้งเป้าจะรณรงค์ให้มีผู้บริจาคให้ได้ปีละ 1,000 ราย

การปลูกถ่ายมีหลายแบบ ได้แก่ การปลูกถ่ายแบบออโทกราฟท์ (Autograft / autotranplantation) การปลูกถ่ายแบบแอลโลกราฟท์ (Allograft / allotransplantation) การปลูกถ่ายแบบไอโซกราฟท์ (Isograft) การปลูกถ่ายด้วยซีโนกราฟท์ (Xenograft / xenotransplantation) การปลูกถ่ายแยกส่วน (Split transplants) การปลูกถ่ายแบบโดมิโน (Domino transplants) และการปลูกถ่ายแบบเอบีโอ (ABO-incompatible transplants)

การปลูกถ่ายด้วยออโทกราฟท์ (Autograft / autotranplantation) เป็นการปลูกถ่ายลงในตัวเจ้าของเอง วิธีนี้ใช้กับเนื้อเยื่อที่มีจำนวนมากหรือเนื้อเยื่อที่สามารถสร้างใหม่ได้ เช่น การปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin grafts) การปลูกถ่ายหลอดเลือด (Vein extraction) สำหรับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery = CABG) บางครั้งก็เป็นการนำเนื้อเยื่อออกมาปรับเปลี่ยนให้ดีแล้วนำใส่เข้าไปใหม่ เช่น Stem cell autograft และการเก็บเลือดไว้ก่อนการผ่าตัด หรือในการผ่าตัดแบบ Rotationplasty ที่ข้อส่วนปลายจะถูกใช้เพื่อทดแทนด้วยข้อที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะข้อเท้าจะใช้ทดแทนข้อเข่า

การปลูกถ่ายด้วยแอลโลกราฟท์ (Allograft / allotransplantation) เป็นการเปลี่ยนถ่ายที่กระทำจากคนสู่คนหรือสิ่งมีชิวิตชนิดเดียวกัน การปลูกถ่ายอวัยวะในคนส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ เนื่องจากพันธุกรรม (Genetic) ของผู้ให้และผู้รับมีความแตกต่างกัน ดังนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้รับจะถือว่าอวัยวะที่รับมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและพยายามหาทางทำลาย ทำให้เกิดการต่อต้านหรือปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นๆ โดยความเสี่ยงของการปฏิเสธอวัยวะนี้สามารถประเมินได้ด้วยการดูจากระดับการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (The Panel reactive antibody)

การปลูกถ่ายด้วยไอโซกราฟท์ (Isograft) เป็นกลุ่มย่อยของการปลูกถ่ายด้วยแอลโลกราฟท์ซึ่งอวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกปลูกถ่ายจากผู้รับที่มียีนเดียวกัน เช่น แฝดเหมือน (Identical twin) ไอโซกราฟท์แตกต่างจากการปลูกถ่ายแบบอื่นๆ เพราะไม่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการกระตุ้นต่อการตอบสนอง

แหล่งข้อมูล:

  1. ไทยขาดแคลนอวัยวะบริจาค เผยยอดผู้ป่วยจ่อคิวกว่า 3,500 ราย http://www.thairath.co.th/content/edu/370724 [2013, October 1].
  2. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].