“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 1)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุม “การปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไตในประเทศไทย” และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายและบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ด้านการสนับสนุนการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ” แก่แพทย์ พยาบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญล้มเหลวระยะสุดท้ายให้กลับมามีชีวิตใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) เป็นการย้ายอวัยวะจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง หรือ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในผู้ป่วยคนเดียวกัน เพื่อแทนที่อวัยวะที่เสียหายหรือขาดไป การอุบัติขึ้นของเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม หรือการแพทย์เชิงฟื้นฟู (Regenerative medicine) ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิศวกรสามารถหรือปลูกถ่ายอวัยวะจากเซลล์ของคนไข้เอง เพื่อมุ่งเน้นการทดแทน การซ่อมเสริม การฟื้นฟูเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะที่เสื่อมถอยหรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งจากความแก่ตามธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ

ปัจจุบันเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สามารถปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา ไขกระดูก เม็ดเลือด หัวใจ ไต ตับ ปอด ตับอ่อน ลำไส้เล็ก และ ต่อมไทมัส เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระดูก เอ็น กระจกตา ผิวหนัง ลิ้นหัวใจ เส้นประสาท และหลอดเลือดดำ แต่อวัยวะบางอย่าง เช่น สมอง จะไม่สามารถปลูกถ่ายได้ จากสถิติทั่วโลกไตถือเป็นอวัยวะที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุด ตามมาด้วยตับและหัวใจ ส่วนเนื้อเยื่อที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุด ได้แก่ กระจกตา เนื้อเยื่อกระดูกและเอ็น (Musculoskeletal grafts)

ผู้บริจาคอวัยวะอาจมีชีวิตอยู่ สมองตาย หรือระบบไหลเวียนในร่างกายหยุดทำงานแล้ว (Circulatory death) ซึ่งเราสามารถนำเนื้อเยื่อของผู้บริจาคที่ระบบไหลเวียนในร่างกายหยุดทำงานหรือสมองตายแล้วมาใช้ได้ ทั้งนี้ ต้องภายใน 24 ชั่วโมงนับจากหัวใจหยุดเต้น แต่สำหรับเนื้อเยื่อ (ยกเว้นกระจกตา) สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 5 ปี ซึ่งหมายความว่า เราสามารถทำเป็นธนาคารอวัยวะได้

การปลูกถ่ายอวัยวะนำไปสู่ประเด็นทางจริยธรรมอย่างมากมายซึ่งรวมถึง การนิยามการตาย การยินยอมให้ใช้อวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายเมื่อไรและอย่างไร และการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับอวัยวะสำหรับปลูกถ่าย ทั้งยังมีประเด็นทางจริยธรรมอื่นๆ อีกเช่น การค้าอวัยวะ การลักลอบค้าขายอวัยวะ เป็นต้น

การปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อเป็นหนึ่งในสาขาวิชาการแพทย์สมัยใหม่ที่ซับซ้อนและท้าทาย สิ่งสำคัญคือปัญหาของการปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะอันเนื่องมาจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การปลูกถ่ายที่ล้มเหลวและจำเป็นต้องนำอวัยวะนั้นออกจากผู้รับโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดีโอกาสของการปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นสามารถลดได้โดยการจัดกลุ่มสายเชื้อ (Serotyping) เพื่อหาผู้บริจาคและผู้รับที่เหมาะสมที่สุด และโดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant drug)

แหล่งข้อมูล:

  1. ไทยขาดแคลนอวัยวะบริจาค เผยยอดผู้ป่วยจ่อคิวกว่า 3,500 ราย http://www.thairath.co.th/content/edu/370724 [2013, October 1].
  2. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].]