ลมชัก: ปลอดภัย ห่างไกลอุบัติเหตุขณะชัก

ปลอดภัย_ห่างไกลอุบัติเหตุขณะชัก

อย่างที่ทราบกันดีมาก่อนหน้านี้ว่าผู้มีอาการชักมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขณะชักได้ง่าย เพราะเกิดการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ และระดับสติ ความรู้สึกตัว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ เรามาเรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง ให้ปลอดภัย ห่างไกลอุบัติเหตุจากการชัก ดังนี้

ทำอย่างไรให้ปลอดภัย

  • ต้องควบคุมอาการชักให้ดี ไม่ให้มีอาการชักและผลข้างเคียงของยากันชักต้องน้อยที่สุด เช่น อาการเซ มึนศีรษะ ง่วงนอน
  • ทานยากันชักสม่ำเสมอ อย่าขาดยา อย่าหยุดยากันชักเอง ถ้ามีอาการข้างเคียงของยากันชัก ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเสมอ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักได้ง่าย เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ อดนอน นอนดึก ทานยาไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การเล่นกีฬาผาดโผน การอยู่ในที่สูง ใกล้แหล่งน้ำ อาบน้ำในอ่างอาบน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง
  • การเล่นกีฬา ต้องพยายามหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การว่ายน้ำสามารถทำได้ ถ้าควบคุมอาการได้ดี และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสระน้ำด้วยเสมอ

ผู้ที่ต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุ

  • ผู้ที่มีอาการชักบ่อยๆ ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ โดยเฉพาะการชักช่วงเวลากลางวัน ถ้ามีการชักเฉพาะตอนนอนอย่างเดียว โอกาสการเกิดอุบัติเหตุจะต่ำมาก
  • การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ล้มลงกับพื้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงมาก เนื่องจากการล้มลงกระแทกพื้น โดยไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อและสติ การรู้สึกตัวได้ จึงสูญเสียกลไกการป้องกันตัว
  • ชักแบบไม่มีอาการเตือน (aura) เนื่องจากผู้ที่มีอาการเตือนจะสามารถเตรียมตัวป้องกันอุบัติเหตุได้ก่อน โดยการพัก นอนราบลงกับพื้น อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ผู้ที่ไม่มีอาการเตือนก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากไม่มีอาการเตือนมาก่อน อาการชักเป็นขึ้นมาทันที
  • ผู้ที่มีอาการชักและต้องทำครัว ปรุงอาหารเอง โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็จะสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ปรุงอาหารเอง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องปรุงอาหารเอง ก็ควรใช้เตาไมโครเวฟ แทนการใช้เตาไฟ เตาถ่าน เตาแก๊ส
  • ทานยากันชักหลายชนิด ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยากันชักได้ง่าย เช่น เซ มึนศีรษะ ง่วงนอน จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวควรแจ้งแพทย์ด้วยเสมอ

ทำนายได้หรือไม่ว่าใครมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขณะชัก

  • สามารถเข้าไปหาข้อมูล และลงข้อมูลในเว็บไซต์ http://sribykku.webs.com ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยของกลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการเผยแพร่ผลการศึกษานี้ในวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ
  • กรอกข้อมูลดังนี้ อายุ จำนวนชนิดยากันชักที่ทานในปัจจุบัน การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จำนวนครั้งที่มีการชักต่อเดือน และการชักตอนกลางวัน
  • เมื่อลงข้อมูลข้างต้นสมบูรณ์ ระบบจะคำนวณโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุออกมาเป็นร้อยละ โดยมีความแม่นยำ และความไวที่เชื่อถือได้
  • ถ้ามีโอกาสไม่มากก็เป็นสิ่งดี ที่เราจะได้ไม่ต้องถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ มากนัก ถ้าผลการทำนายออกมาว่า เรามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุศุง ก็ต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง อะไรที่หลีกเลี่ยงได้ก็ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรเสี่ยงโดยเด็ดขาด