ประเภทของร้านขายยา (Cathegory of drug store)

ก่อนจะกล่าวถึงประเภทของร้านขายยา เรามาดูประเภทของยา ตามกฎหมายกันก่อน ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. ยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าปลอดภัย โอกาสเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีน้อย ให้วางจำหน่ายได้โดยทั่วไป และผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อด้วยตน เองตามอาการเจ็บป่วย
  2. ยาอันตราย คือ ยาแผนปัจจุบันที่มีอันตรายสูงกว่ายาสามัญประจำบ้าน ยาในกลุ่มนี้จะมีคำว่า “ยาอันตราย” ระบุ ไว้บนฉลากข้างภาชนะบรรจุ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ต้องขายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน ภายใต้การควบคุมของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ
  3. ยาควบคุมพิเศษ คือ ยาแผนปัจจุบันที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่าย แม้จะใช้อย่างถูกต้อง ยานี้จึงต้องผ่านการควบคุมดูแลในการใช้จากแพทย์โดยใกล้ชิด แพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งจ่ายยาควบคุมพิเศษ เช่น ยา ในกลุ่มยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ยาเด๊กช่าเมทาโซน (Dexamethasone)
  4. ยาบรรจุเสร็จ เป็นยาแผนปัจจุบันที่ได้ผลิตขึ้นในรูปต่างๆทางเภสัชกรรมที่บรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิด หรือผนึกไว้และมีฉลากครบถ้วน เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น

ทีนี้เรามาดูประเภทของร้านขายยาตามกฎหมาย แบ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้แบ่งประเภทการขออนุญาตขายยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาแผนปัจจุบัน (มี 3 ประเภท) และ ยาแผนโบราณ

โดยการขายยาแผนปัจจุบัน ได้แบ่งประเภทร้านขายยาเป็น 3 ประเภท ได้ดังนี้

  1. ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ขายยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษบางประเภทที่อนุญาตให้เภสัชกรร้านยา ขายได้ ซึ่งยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งแพทย์ เช่น ยาไวอากร้า (Viagra) เป็นต้น แต่ยาควบคุมพิเศษบางประเภทก็ห้ามขายในร้านยาประเภทนี้ เช่น ยานอนหลับบางประเภท หรือ ยาสเตียรอยด์ บางประเภท เช่น ยาเพรดนิโซโลน ทั้งนี้ ร้านยาประเภทนี้ “ต้องมีเภสัชกร” ควบคุมร้าน
  2. ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จ ที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ (ข.ย. 2) ยาเหล่านี้ไม่ต้องใช้ ใบสั่งแพทย์ และ “ไม่ต้องมี” เภสัชกรคุมร้าน
  3. ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จ สำหรับสัตว์ (ข.ย.3) ควบคุมการขายโดยเภสัชกร หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้น ๑ หรือชั้น 2 ประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ การซื้อยาไม่ต้องใช้ใบสั่งยาของสัตวแพทย์

ส่วนการสังเกตว่าร้านขายยาจัดจำหน่ายยาเป็นประเภทใดนั้น เราสามารถสังเกตได้จากป้ายแสดงว่าเป็น ”สถานที่ขายยา” หรือ ป้ายแสดง ”ชื่อตัว ชื่อสกุล” และวิทยฐานะ ของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ และเวลาปฏิบัติการ” ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้รับอนุญาต (ร้านขายยา) ต้องแสดงไว้ในที่เปิดเผย สามารถสังเกตป้ายได้ง่ายจากภายนอกอาคาร โดย

  • ป้ายสีน้ำเงิน สำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เท่านั้น นอกนั้นเป็นป้ายสีเขียว คือ
  • ป้ายสีเขียว สำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.2)
  • ป้ายสีเขียว สำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.3)
  • ป้ายสีเขียว สำหรับร้านขายยาแผนโบราณ

ส่วนที่จะสังเกตว่าร้านใดมีเภสัชกรคุมร้าน ตามกฎหมายกำหนดให้ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ต้องมีเภสัชกรคุมร้านตลอดช่วงที่จำหน่ายยา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลาตามที่ระบุในป้ายแสดงชื่อของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ

ทั้งนี้การจัดแบ่งประเภทของร้านยาแต่ละประเภทนั้น มีเป้าหมายหลักที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา โดยกำหนดประเภทของยาที่สามารถขายได้ในร้านขายยาแต่ละประเภท รวมถึงผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (ผู้ควบคุมการขายยาให้เป็นไปตามกฎหมาย) ในร้านขายยาแต่ละประเภทด้วย

อนึ่ง

  • ยาสมุนไพรต่างๆ ยาแผนโบราณ หรือยาจีนต่างๆ อาหารเสริม สามารถจำหน่ายในร้านขายยาได้ทั้ง 4 ประเภท )
  • วิตามิน เกลือแร่ สามารถจำหน่ายในร้านขายยาได้ทั้ง 4 ประเภทเช่นกัน ยกเว้น วิตามิน บางประเภทที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย เช่น วิตามินที่มีปริมาณสูง ก็จำหน่ายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย. 1) เท่านั้น )

บรรณานุกรม

  1. การแบ่งประเภทของร้านขายยา http://newsser.fda.moph.go.th/advancepharmacy/2009/_file/201032913293รอบรู้เรื่องยา%202010_04%20ประเภทของร้านขายยาตามกฎหมายยา.pdf[2013,Sept14].