ประหม่าเกินเหตุหรือเขินเกินไป (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ประหม่าเกินเหตุหรือเขินเกินไป

ส่วนการรักษาโรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม ผศ.พญ.ทานตะวัน ได้กล่าวถึง

1. พฤติกรรมบำบัด

  • การรักษาโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว (Exposure therapy)
  • การใช้เทคนิคผ่อนคลาย (Relaxation technique) เช่น นั่งหรือยืนในท่า ที่สบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ไปเรื่อยๆ สัก 3-5 นาที หรืออาจถึง 10 นาที หรือมากกว่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเกิดความสงบมากขึ้น จากร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ จิตใจที่สงบมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นคงจากภายในมากขึ้นหรือ การจินตนาการถึงสิ่งที่ดี
  • การจินตนาการ สถานการณ์จำลอง ที่ตนมักกลัว เพื่อสร้างความคุ้นชินเพื่อลดความกลัวกังวล และถ้ามีการบันทึกความก้าวหน้าของการเผชิญสถานการณ์ที่กลัว จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้มากขึ้น

2. การปรับวิธีคิด

  • ปรับวิธีคิดที่มองตนเอง หรือ สถานการณ์ต่างๆ รอบตัวแย่เกินจริงไปมาก จนเกิดความวิตกกังวล หรือ มักแปลความสิ่งต่างๆไปในแง่ลบมากเกินไป การรักษาปรับวิธีคิด หรือ วิธีแปลความสิ่งต่างๆให้เหมาะสมตามความเป็นจริง ให้กลับมามองเห็นสิ่งดีๆ เห็นศักยภาพในตนเอง หรือแปลความสถานการณ์รอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง

3. การทำจิตบำบัด

  • การทำจิตบำบัดแบบเชิงลึก เพื่อหาที่มาและช่วยแก้ไขปมขัดแย้งในจิตใจ ซึ่งรักษาโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิค เพื่อให้กลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เกิดความรู้สึกมั่นคงขึ้นภายใน จะลดความสั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลงไปอย่างมาก

4. การใช้ยา

  • กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Serotonon-Specific Reuptake Inhibitors (SSRI)
  • กลุ่มยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepine
  • ยาในกลุ่ม Beta-adrenergic antagonist เช่น propranolol ใช้ในการลดอาการประหม่าทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เป็นต้น

อนึ่ง การรักษาโรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคมที่ได้ผลมากที่สุดในปัจจุบัน เรียกว่า วิธีความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive behavioral therapy = CBT) ซึ่งอาจมีการใช้ยาช่วยบ้าง วิธีนี้จะช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยให้มีเหตุมีผลมากขึ้น และช่วยให้เลิกหลบหนีต่อสถานการณ์ที่เคยทำให้เกิดความวิตกกังวล สอนให้มีการตอบโต้กับสถานการณ์ที่เคยทำให้เกิดความวิตกกังวลในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น

การรักษาอาจรวมถึงกระบวนการลดความวิตกกังวลอย่างมีระบบ (Systematic Desensitization) ด้วยการลดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลใจกับปฏิกิริยาตอบสนองให้ค่อยๆ หายไปอย่างมีระบบ เช่น เบื้องต้นใช้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายและปลอดภัยอย่างสำนักงานของแพทย์ แล้วค่อยๆ ให้ผู้ป่วยได้เจอกับสถานการณ์จริงแต่อยู่ภายใต้ความช่วยเหลือของแพทย์

แหล่งข้อมูล

1. รู้จัก "โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม" : ผลเสียรุนแรง หากไม่รักษา. http://manager.co.th/goodhealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000036665 [2016, July 14].

2. Social Anxiety Disorderhttp://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/mental-health-social-anxiety-disorder [2016, July 14].