ปรอทปลอดไม่จริง (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ปรอทปลอดไม่จริง

แม้ว่าสารปรอทจะพบได้จากพืชและสัตว์ที่ดูดซึมจากน้ำทะเล ตะกอนจากหนองน้ำ (Lacustrine sediments) ดิน และอากาศ ตามขบวนการสะสมสารพิษที่จะเพิ่มขึ้นตำลำดับขั้นในห่วงโซ่อาหาร (Biomagnification) หรือการใช้วัสดุที่มีสารปรอท เช่น การอุดฟัน (Amalgam dental restorations) และหลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ (Fluorescent lamps)

แต่สาเหตุในการได้รับสารพิษปรอทที่รู้จักกันดีก็คือ การได้รับสารพิษจากการกินปลา โดยเฉพาะการกินเนื้อปลาวาฬและเนื้อปลาโลมาของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำให้ได้รับสารพิษปรอทในระดับสูง

ประมาณครึ่งหนึ่งของสารพิษปรอทในอากาศเกิดจากน้ำมือมนุษย์เอง โดยมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน การผลิตทองคำ การผลิตโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous metal production) การผลิตซีเมนต์ การกำจัดของเสีย (Waste disposal) เมรุเผาศพ (Human crematoria) การผลิตโซดาไฟ (Caustic soda) การผลิตเหล็ก (Pig iron and steel production) การผลิตแบตเตอรี่ และการเผาเศษวัสดุชีวมวลจำพวกเศษวัชพืชและต้นไม้ (Biomass burning) สารพิษส่วนที่เหลือเกิดจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟ

สารปรอทในรูปแบบต่างๆ เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มาก ผู้หญิงที่ได้รับสารปรอทระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในการแท้งสูง และเด็กเล็กที่ได้รับสารปรอทก็อาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทอย่างร้ายแรง เพราะทำให้ปลอกประสาทไม่สามารถสร้างตัวได้ตามปกติ ยับยั้งการสร้างปลอกไมอีลิน (Myelin)

ทั้งนี้มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า สารพิษปรอทอาจจะทำให้เกิดกลุ่มอาการ Young's syndrome (ผู้ชายที่เป็นโรคหลอดลมพองและมีจำนวนอสุจิน้อย) ได้

การป้องกันสารพิษปรอทสามารถทำได้ด้วยการลดการสัมผัสกับปรอทและสิ่งที่มีปรอทเป็นส่วนประกอบ

การป้องกันตนเองจากสารปรอทด้วยการตรวจดูฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนังประเภททำให้ผิวขาวใส (Skin lightening) ต่อต้านริ้วรอย (Anti-aging) มาสคาร่า (Mascara) และอื่นๆ ว่ามีคำว่า “Mercurous chloride” “Calomel” “Mercuric” “Mercurio” หรือ “Mercury” หรือไม่ ถ้ามีให้หยุดใช้ทันที เพราะเมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สารเคมีจะซึมผ่านผิวหนังไปสู่กระแสเลือดได้

นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงสารอุดฟันที่ทำจากปรอทเพราะอาจทำให้เกิดภาวะพิษปรอทได้

และกรณีที่หลอดไฟฟลูออเรสเซนท์แตกออก จะมีสารปรอทออกมาทั้งในรูปของของเหลวและไอระเหย The U.S. Environmental Protection Agency ได้แนะนำให้รีบเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่หลอดไฟแตกเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีหลังการแตก เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสารปรอท

ส่วนการรักษานั้น ต้องอาศัยการขับสารปรอทออกจากร่างกาย เช่น การรักษาด้วยคีเลชั่น (Chelation therapy) ซึ่งต้องทำอย่างถูกวิธี มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) อันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) ได้

แหล่งข้อมูล

  1. Mercury poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Mercury_poisoning [2015, March 9].
  2. Mercury Poisoning Linked to Skin Products. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm294849.htm [2015, March 9].