ปฐมพยาบาลภาคสนาม (ตอนที่ 4)

ปฐมพยาบาลภาคสนาม

ท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ (Food poisoning / foodborne illness) เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต หรือสารพิษอื่นๆ เป็นสาเหตุของอาการท้องเดินที่พบได้บ่อยในหมู่คนทั่วไป

อาการของอาหารเป็นพิษจะแตกต่างกันไปตามแหล่งของเชื้อ แต่อาการโดยทั่วไป ได้แก่

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ถ่ายเป็นน้ำ
  • ปวดท้องและเป็นตะคริว
  • เป็นไข้

อาการอาจจะเริ่มปรากฏหลังการกินอาหารมีเชื้อเข้าไปภายในหนึ่งชั่วโมงหรืออาจเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์หลังการกิน ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและทุเลาได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง

สาเหตุของการติดเชื้ออาจเกิดได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บ การขนส่ง และการเตรียมอาหาร

สำหรับการดูแลเบื้องต้นที่ทำได้ คือ

  • หยุดกินและดื่มสัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ท้องปรับตัว
  • แล้วค่อยๆ ดื่มน้ำหรือกินน้ำซุป เพื่อให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอ
  • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย แต่หากมีอาการคลื่นไส้อีกให้หยุดกิน
  • พักผ่อนให้เต็มที่

การป้องกัน

  1. ดื่มน้ำสะอาด
  2. ควรล้างมือก่อนกินอาหารและหลังถ่ายอุจจาระ
  3. กินอาหารที่สุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปริมาณที่ได้รับเข้าไป ร่างกายจึงเกิดความไม่สมดุล การขาดน้ำอย่างรุนแรงสามารถเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของการขาดน้ำอาจเกิดจาก

  • เป็นไข้ เจอความร้อน และออกกำลังกายมากเกิน
  • อาเจียน ท้องเสีย และปัสสาวะมากจากการติดเชื้อ
  • เป็นโรค เช่น เบาหวาน
  • อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหาน้ำและอาหารได้
  • ไม่มีน้ำดื่มที่ปลอดภัย
  • ได้รับบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น ไฟไหม้

บรรณานุกรม

1. Food poisoning. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/food-poisoning/basics/definition/con-20031705 [2016, October 25].

2. Dehydration in Adults. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/dehydration-adults#1 [2016, October 25].