ปฐมพยาบาลภาคสนาม (ตอนที่ 2)

ปฐมพยาบาลภาคสนาม

ในหลายประเทศอาจจะมีกฏหมาย ระเบียบกฏเกณฑ์ หรือคำแนะนำ ถึงระดับการให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ต้องมีการจัดอบรมในบริษัทที่ทำงาน ในโรงเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การปฐมพยาบาลที่เกิดขึ้นก็มักจะทำโดยคนทั่วไป และไม่ได้ใช้อุปกรณ์อะไรมากมาย

ในที่นี่จะขอกล่าวถึง การปฐมพยาบาลเฉพาะอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการหน้ามืดเป็นลม เป็นตะคริว ปวดท้องหรือท้องเสียจากอาหารแจก ขาดน้ำ

หน้ามืดเป็นลม (Fainting) เป็นอาการหมดสติชั่วคราว ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้หมดสติไปชั่วขณะ

ส่วนสาเหตุของการที่ความดันเลือดตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจเกิดจาก

  • การยืนนานเกินไป
  • ร้อนมากเกินไป (Overheating)
  • ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)
  • เสียใจมากเกินไป
  • ปวดมากเกินไป
  • การเห็นเลือด
  • การเห็นเข็มฉีดยา (Hypodermic needle)
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ (Low blood sugar)
  • อ่อนเพลีย (Exhaustion)

อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายได้เร็วภายในไม่กี่นาที อาการโดยทั่วไปได้แก่

  • เวียนศีรษะ (Dizziness)
  • มึนๆ หวิวๆ คล้ายจะเป็นลม (Lightheadedness)
  • หน้าซีด (Paleness)
  • ทรงตัวไม่อยู่ (Unsteady balance)
  • สายตาพร่ามัว (Vision changes)
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ (Fast or irregular heartbeat)
  • เหงื่อออก (Sweating)
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน (Nausea or vomiting)

การปฐมพยาบาลคนที่หน้ามืดเป็นลม ได้แก่

  • หาที่อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นั่งลงหรือนอนลง เพื่อลดโอกาสในการล้ม
  • กรณีที่นั่งให้ก้มหัวลงระหว่างเข่า ส่วนกรณีที่นอนให้ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 12 นิ้วเพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมอง
  • คลายเครื่องแต่งกายให้หลวม เช่น เข็มขัด กระดุมเม็ดที่ติดคอ
  • ให้ดมแอมโมเนีย
  • และเพื่อหลีกเลี่ยงการหน้ามืดซ้ำอย่าลุกขึ้นเร็วเกินไป หากผู้ป่วยยังหมดสติอยู่ หรือรู้สึกหายไม่ค่อยออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือชีพจรเต้นผิดปกติให้เรียกรถพยาบาลทันที

บรรณานุกรม

1. First aid. https://en.wikipedia.org/wiki/First_aid [2016, October 23].

2. Fainting. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/fainting [2016, October 23].

3. First Aid : Fainting. http://kidshealth.org/en/parents/fainting-sheet.html [2016, October 23].