ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 99 : แผนกซักรีดผ้า

โรงพยาบาล อาจมีแผนกซักรีด (Laundry) หรือ “งานผ้า” ของตนเอง ซึ่งมักอยู่ในชั้นใต้ดิน หรือว่าจ้างบริการจากภายนอก (Outsource) แผนกนี้มีบริเวณแยกต่างหากสำหรับการรับและแยกผ้าที่สกปรก (Soiled Linen) บริเวณซักล้าง บริเวณอบแห้ง และบริเวณรีด [ซึ่งเป็นกระบวนการแปรสภาพ (Processing) ขนาดใหญ่ ในโรงพยาบาลบางแห่ง โดยใช้เครื่องจักรเหมือนโรงงานอุตสาหกรรม] แผนกนี้ยังมีบริเวณรวบรวมผ้าที่สะอาด (Clean linen) พับและเก็บบนหิ้ง หรือบนรถเข็นเตรียมส่ง

คำว่า “งานผ้า” ในบริบทของโรงพยาบาล (Hospital linen) หมายถึงสิ่งทอทุกชนิดที่ใช้ในโรงพยาบาล อันได้แก่ ฟูก (Mattress) ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดมือ ผ้าฉากกั้น (Screen) ผ้าม่าน เสื้อนอก (Coat) ของแพทย์ ผ้าปูโต๊ะผ่าตัด ฯลฯ วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ คือผ้าฝ้าย (Cotton) แต่อาจใช้วัสดุพิเศษสำหรับห้องผ่าตัด เพราะต้องมีการฆ่าเชื้อด้วย [อาทิ ผ้าสังเคราะห์ (Synthetic) ที่ใช้ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง (Disposable)]

หัวหน้าแผนกซักรีดผ้า ต้องมีทักษะในการปกครองคน และความชำนาญในการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ที่ช่วยประหยัดเวลา รวมทั้งเข้าใจด้านเทคนิคต่างๆ ของการซักล้าง อาทิ น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม จำนวนบุคลากรสำหรับปฏิบัติการนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเตียงในโรงพยาบาล และหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งอาจรวมถึงการที่ต้องไปรับผ้าที่สกปรกจากหน่วยงานผู้ใช้ การเตรียมผ้าสำหรับห่อเครื่องมือปลอดเชื้อ (Sterile instruments) [แต่มิได้รวมกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ] และการส่งผ้าที่สะอาดแล้วกลับไปที่หน่วยงานผู้ใช้

แผนกซักรีด ต้องกำหนดปริมาณผ้าที่จำเป็นสำหรับทั่วทั้งโรงพยาบาล มาตรฐานทั่วไปคือการมี 6 ชุด ต่อ 1 เตียงที่มีผู้ป่วย โดยที่แต่ละชุดมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. สำหรับใช้จริง
  2. สำหรับเดินทาง [ส่งคืน] ไปยังแผนกซักรีดผ้า หลังจากใช้แล้ว
  3. สำหรับแปรสภาพ (Processing) ในแผนกซักรีดผ้า
  4. สำหรับหน่วยงานพยาบาล (Nursing unit) พร้อมหยิบใช้
  5. สำหรับใช้ระหว่างสุดสัปดาห์
  6. สำหรับใช้กรณีฉุกเฉิน

การให้บริการซักรีด ที่เชื่อถือได้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโรงพยาบาล ที่ซึ่งผู้ป่วยคาดหวังว่าจะต้องมีการเปลี่ยนผ้าทุกวัน การมีจำนวนผ้าที่เพียงพอ เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาระดับสุขอนามัย (Hygiene) ที่มีผลกระทบต่อทั้งผู้ป่วยและบุลากรทางการแทพย์ ตลอดจนสะท้อนถึงคุณภาพและมาตรฐานของบริการในการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล ในภาพรวม

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)