ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 94 : การบริหารสายโซ่อุปทาน

การบริหารสายโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) คือการบริหารวัสดุ (Materials) ซึ่งรวมทั้งสินค้า วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) บริการ และอุปกรณ์ ตั้งแต่การแสวงหา (Acquisition) จนถึงการจำหน่าย (Disposition) ขอบเขตจึงครอบคลุมถึงการรวมศูนย์การจัดซื้อจัดจ้าง การประมวล (Processing) การควบคุมสินค้า (Inventory) การรับสินค้า (Receiving) จนถึงการจัดส่ง (Distribution) ไปยังหน่วยงานผู้ใช้ เป็นกระบวนการที่เชื่อมกันเหมือนสายโซ่

การบริหารสายโซ่อุปทานดังกล่าวให้ได้ประสิทธิผล ต้องสร้างความมั่นใจว่า สินค้า บริการ และอุปกรณ์ ต้องได้คุณภาพ ซื้อมาในราคาต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่สินค้าคงคลังต้องได้รับการดูแล และควบคุม เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง [ในทางปฏิบัติสินค้าคงคลังส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลที่มีการหมุนเวียนบ่อย คือยา และเวชภัณฑ์]

แผนกจัดซื้อจัดจ้างในโรงพยาบาล กำหนดสิ่งที่ต้องซื้อ เวลา และวิธีการ จากผู้ขาย (Vendor/Supplier) โดยมีวัตถุประสงค์ในการซื้อสินค้าและจัดหาบริการที่มีคุณภาพ ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพ ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง หรือการประมูล [หรือประกวดราคา] เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

ก่อนจะมีการประมูล แผนกจัดซื้อจัดจ้างต้องกำหนดความต้องการ (Specifications) สำหรับสินค้าที่ต้องการจัดซื้อ และบริการที่ต้องการจัดหา เป็นลายลักษณ์อักษร การประมูลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาล และผลพลอยได้จากการจัดประมูลก็คือ แผนกจัดซื้อจัดจ้าง ต้องคำนึงถึงการใช้สอย และมาตรฐานของแต่ละรายการ [มิใช่คำนึงถึงราคาเพียงปัจจัยเดียว]

ในกรณีที่ราคาเป็นปัจจัยหลักของการกำหนดการแข่งขัน แผนกจัดซื้อจัดจ้างจะต้องคำนึงถึงประเด็นในการให้บริการ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในภายหน้า หากสินค้าจำเป็นต้องมีการซ่อมแซม แผนกจัดซื้อจัดจ้างต้องกำหนดความเร็วในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไว้เป็นเงื่อนไข จึงต้องให้น้ำหนักที่เหมาะสมในการพิจารณา

โรงพยาบาลมีแนวโน้มในการเช่า (Lease) อุปกรณ์มากขึ้น แทนการซื้อ (Purchase) เพราะวิธีการนี้ช่วยให้โรงพยาบาล สามารถใช้อุปกรณ์ โดยไม่ต้องมีการจ่ายเงินก้อนใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา วิธีการเช่ามี 2 ประเภท กล่าวคือการเช่าเชิงการเงิน (Financial Lease) กับการเช่าเชิงปฏิบัติการ (Operating Lease)

วิธีการแรก มักมีการกำหนดเงื่อนไข มิให้เช่าเกิน 80% ของอายุการใช้งานที่คาดคะเน (Expected useful life) แล้วมีทางเลือก (Option) ให้ซื้อเป็นทรัพย์สินหลังจากนั้น การเช่าเป็นลักษณะทุน (Capital) จะคล้ายกับการเช่าซื้อ (Hire purchase) ในประเทศไทย ส่วนวิธีการหลังเป็นการเช่าที่สามารถบอกเลิกได้ เพียงผู้ใช้แจ้งล่วงหน้าให้ผู้ให้เช่าเท่านั้นเอง การเช่าเป็นลักษณะค่าใช้จ่าย (Expense) อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค มักใช้วิธีการแรก แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ล้าสมัย (Obsolete) เร็ว ก็จะเลือกใช้วิธีการหลัง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)