ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 91 : กระบวนการแฟ้มผู้ป่วย

กระบวนการแฟ้มผู้ป่วย เริ่มต้นด้วยแม่แบบดัชนีผู้ป่วย (Master patient index : MPI) ซึ่งในประเทศไทยใช้คำว่า HN (= Hospital Number) เป็นการสร้างระบบที่ให้ผู้ป่วยแต่ละรายมีเพียงดัชนีเดียวอย่างถาวร MPI มักจะรวมรหัส ชื่อผู้ป่วย วันเกิด เพศ หมายเลขประกันสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล แผนกรับผู้ป่วย (Admission) จะตรวจสอบ MPI หากเป็นผู้ป่วยเก่า ข้อมูลการรักษาในอดีตจะปรากฏในแฟ้มประวัติ ซึ่งแพทย์และผู้อื่นๆ ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเข้าถึงโดยง่าย การค้นหา (Identification) ผู้ป่วยอย่างถูกต้องคือสิ่งสำคัญของคุณภาพการดูแลรักษา

หาก MPI มิได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยที่แพ้ยาอย่างรุนแรง แต่มีชื่อคล้ายคลึงกับผู้ป่วยอีกคนหนึ่งที่มีประวัติการแพ้ มีโอกาสได้รับขนาด (Dose) ของยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของแผนกเวชระเบียนที่ต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ในเรื่องความซ้ำซ้อนของแฟ้มผู้ป่วย และปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพที่เชื่อถือได้ของเวชระเบียน

ทุกโรงพยาบาล ต้องเก็บรักษารายงานสถิติฝ่ายการแพทย์ ฝ่ายการบริหาร และสาธารณสุข เพื่อประโยชน์การใช้ภายในและภายนอกโรงพยาบาล รายงานดังกล่าว สามารถสร้างจากระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล สถิติสาธารณสุขนั้น เป็นรายงานตามกฎหมาย เกี่ยวกับโรคระบาดหรือแพร่ระบาดเร็ว อาทิ ไข้หวัดนก โรคจากไวรัสเอชไอวี (HIV) และวัณโรค (Tuberculosis : TB)

ส่วนสถิติฝ่ายการแพทย์ มักประกอบด้วย

  • อัตราตาย (Mortality) – จำนวนผู้ป่วยที่ตายในโรงพยาบาล
  • อัตราการติดเชื้อ (Nosocomial infection) – จำนวนผู้ติดเชื้อเมื่อเริ่มเข้ามารักษาตัว ในโรงพยาบาล หารด้วยจำนวนผู้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Discharge) ใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพการดูแลรักษา
  • อัตราการติดเชื้อหลังการผ่าตัด (Post-operative infection) – อัตราร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ อันเป็นผลพวงจาการผ่าตัด

สำหรับสถิติฝ่ายบริหาร มักประกอบด้วย

  • ประชากรผู้ป่วยใน (Inpatient census) – จำนวนผู้ป่วยในที่ครองเตียง มักจะนับ ณ เที่ยงคืน ของทุกๆ วัน
  • อัตรการครองเตียง (Bed occupancy) – อัตราร้อยละของจำนวนเตียงที่ครองโดยผู้ป่วยใน ณ เวลาหนึ่งของวัน
  • อัตราการหมุนเวียนของเตียง (Bed turnover) – จำนวนครั้งที่แต่ละเตียงเปลี่ยนผู้ครอง ในช่วงเวลาหนึ่ง
  • วันเฉลี่ยอยู่ในโรงพยาบาล (Average length of stay) – จำนวนวันเฉลี่ยที่ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

โดยที่ ข้อ 3 และ 4 ใช้เป็นมาตรวัดการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาล (Hospital resource utilization) อีกด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. Nutritionist - http://en.wikipedia.org/wiki/Nutritionist